ในช่วงเวลานี้ ประเด็นร้อนจนกลายเป็นวาระแห่งชาติที่คนทั้งประเทศกำลังให้ความสนใจคงหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลและประชาชนกำลังรับมืออยู่ ซึ่งนอกจากแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขจะได้รับผลกระทบอย่างมากแล้ว ในส่วนของนักธุรกิจรวมถึงความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจของประเทศก็สั่นคลอนไปตาม ๆ กัน เนื่องจากธุรกิจหลายประเภทมีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งสวนทางกับภาระในค่าใช้จ่ายที่นายจ้างต้องรับผิดชอบเท่าเดิม ด้วยเหตุนี้หลายกิจการต้องออกนโยบายมาประคับประคองธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนลูกจ้าง การเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อให้ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ บางกิจการต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว หรือร้ายแรงที่สุดคือปิดตัวลงเนื่องจากรับภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมาไม่ไหว อันเนื่องมาจากเหตุจำเป็นต่าง ๆ เช่น
1) หน่วยงานภาครัฐ/ผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำสั่งให้ปิดสถานประกอบการ เพราะสถานที่ประกอบกิจการดังกล่าวเป็นสถานที่ที่แพร่เชื้อ หรือ เสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ หรือ ป้องการการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเป็นกิจการที่ถูกทางการสั่งปิดหรือรัฐบาลต่างประเทศปิดประเทศชั่วคราว เช่น กิจการโรงแรม กิจการสายการบิน กิจการขนส่งบางประเภท เป็นต้น
2) นายจ้างเลือกที่จะปิดกิจการเอง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเข้ามาในสถานที่ประกอบกิจการ หรือกิจการได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่มีลูกค้าหรือผู้รับบริการมาใช้บริการ ยอดการผลิตลดลง มีปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้า เป็นต้น
เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ในทางกฎหมาย นายจ้างสามารถเลือกช่องทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อประคับประคองกิจการของตนให้อยู่รอดได้ ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 หยุดกิจการชั่วคราว
ในกรณีนายจ้างตัดสินใจที่จะหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างสามารถที่จะใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวเพราะเหตุจำเป็นโดยนายจ้างจ่ายค่าจ้าง เพียง 75% ของค่าจ้างงวดสุดท้าย (กฎหมายเดิม 50%) ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างหยุดงาน ซึ่งตามกฎหมายแรงงานแก้ไขใหม่กำหนดว่า นายจ้างจะต้องแจ้งล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบอย่างน้อย 3 วัน
ในกรณีเช่นนี้ ลูกจ้างอาจจะเบื่อเลยมีคำถามหลังไมค์มาว่า Q : ลูกจ้างไปหารายได้หรือลำไพ่อื่นได้หรือไม่? A: ลูกจ้างมีสิทธิไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างอาจต้องเช็คสัญญาจ้างก่อนว่ามีข้อห้ามตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ เช่น หากนายจ้างมีสัญญาหรือข้อตกลงห้ามลูกจ้างมิให้แข่งขันทางการค้าหากไปหาลำไพ่เพิ่ม โดยไม่ดูตาม้าตาเรือก็อาจถูกนายจ้างฟ้องได้
ทางเลือกที่ 2 เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยลดวันทำงาน
นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้ เช่น ลดจำนวนวันทำงานโดยอาจจัดกลุ่มลูกจ้างให้สลับวันมาทำงาน หรือลดค่าจ้าง เป็นต้นแต่ข้อตกลงดังกล่าวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย อย่างไรก็ดี นายจ้างยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย
ทางเลือกที่ 3 เลิกจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างเห็นว่าธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวหรือฟื้นฟูกิจการได้ในเร็ววัน นายจ้างอาจเลือกใช้วิธีการเลิกจ้างในการแก้ปัญหา ซึ่งปกติในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า “ในที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้โรคโควิด-19 ถือเป็น “เหตุสุดวิสัย” ที่ทำให้ลูกจ้างผู้ประกันตนได้รับผลกระทบ และส่งผลให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก และกองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินกรณีว่างงาน เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น... โดยหลังจากนี้จะนำรายละเอียดเสนอต่อ ครม.เพื่อเห็นชอบ และออกประกาศกฎกระทรวงตามรายละเอียดข้างต้น หลังจากนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป” ซึ่งส่งผลให้ลูกจ้างสามารถไปขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตาม พรบ.ประกันสังคมฯ มาตรา 79/1 ได้
ซึ่งในเรื่องนี้ มีประเด็นว่าหากตีความกันว่าการหยุดประกอบกิจการอันเนื่องมาจากโรคโควิด 19 นั้นถือเป็น "เหตุสุดวิสัย" ก็จะเกิดการตีความในทางกฎหมายไปถึงขนาดว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินหรือค่าจ้างให้กับลูกจ้างเลยหรือไม่?
เราคงต้องมารอดูกันต่อไปว่ากฎกระทรวงที่กำลังจะประกาศออกมานี้จะส่งผลต่อการตีความของศาลเกี่ยวกับคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ไว้อย่างไร จะสามารถกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยแบ่งเบาภาระนายจ้างที่ต้องแบกรับไว้ในสถานการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่ เหล่าผู้ประกอบการหรือนายจ้างคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีการอัพเดทในเรื่องนี้หรือมีกฎหมายตัวใหม่ที่น่าสนใจผู้เขียนจะมานำเสนอให้ทุกท่านได้อ่านในบทความต่อไปแน่นอน...
Comments