top of page

Back Office Support สิ่งที่จำเป็นสำหรับ Start up


ปัจจุบันนี้กิจการ Start Up ยังคงเป็นที่นิยมของผู้เริ่มธุรกิจที่มีไอเดีย และอยากทำธุรกิจของตัวเองให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด นักธุรกิจประเภทนี้มักถูกเรียกว่า “ยูนิคอร์น” ในเทพนิยาย พวกเขามีไอเดีย และแผนธุรกิจของตัวเองเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากนักลงทุน ในอุตสาหกรรมนี้มักมีนักลงทุน 2 จำพวก คือ “เทวดา” (Angel) ซึ่งจะเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่มีเงินลงทุนตามแผนธุรกิจที่เหมาะสม และ Venture Capitalist ซึ่งอาจเป็นบริษัทลงทุน (Investment Company) หรือกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ซึ่งจะทำการลงทุนด้วยเงินมหาศาล และมักจะวางระบบการบริหารกิจการ หรือให้บุคคลากรของตนเองร่วมบริหาร หรือเป็นกรรมการใน Start Up ด้วย โดยนักลงทุนจะลงทุนในรูปแบบ “ส่วนทุน” เช่น การเข้าเป็นถือหุ้นในบริษัทที่ไม่จดทะเบียน (Private Equity Fund) หรือ การเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยนักลงทุนจะแสวงหาประโยชน์จากมูลค่าเพิ่มของส่วนที่ตนเองลงหุ้น (Capital Gain) หรือปันผล

เมื่อยูนิคอร์นมาเจอกับเทวดาแล้วการตกลงทางด้านเงื่อนไขความตกลงในการสนับสนุนทางการเงินจะเริ่มขึ้น เช่น การเข้าซื้อหุ้น การทำสัญญาผู้ถือหุ้น ซึ่งในช่วงนี้เองยูนิคอร์นทั้งหลายซึ่งมักจะเป็นคนหนุ่มไฟแรง มีความชำนาญในการดำเนินธุรกิจ หากตกลงธุรกิจกับนักลงทุนส่วนบุคคลประเภท Venture Capitalist แล้ว การทำธุรกิจจะถูกควบคุมโดยบุคคลากรจากนักลงทุนเองบุคคลากรของยูนิคอร์นเองอาจทำงานเพียงให้เป็นไปตามเป้าหมาย หรือได้ผลตอบแทนตามที่ตกลงกัน ภายใต้สิ่งแวดล้อม หรือระบบที่นักลงทุนจัดให้ซึ่งการลงทุนแบบนี้จะเป็นไปแบบมีระบบ อย่างไรก็ดีหากยูนิคอร์นพบกับนักลงทุนแบบเทวดา “Angel” หลายครั้งที่ผู้เขียนพบว่าสาระสำคัญของการตกลงการลงทุนจะอยู่เพียงแผนการดำเนินธุรกิจหลักอย่างเดียว (Business Plan) โดยละเลยการจัดการบริหารภายใน (Back Office Support) ที่ดีซึ่งการขาดการดูแลใส่ใจในเรื่องดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจต้องล้มลงอย่างน่าเสียดาย บางครั้งถึงขนาดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่ง หรือมีการดำเนินคดีอาญา ก็เป็นได้ วันนี้เราจะนำเสนอความเสี่ยง หรือประเด็นที่ยูนิคอร์น และ เทวดา อาจมองไม่เห็น หรือละเลยการจัดการบริหารภายใน (Back Office Support) ดังต่อไปนี้


1. ระบบการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน (Internal Control : IA) ตามนิยามของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) ซึ่งก็คือองค์กรหลักในระดับสากลที่กำหนดมาตรฐาน และแนวทางในการควบคุมภายในขององค์กรธุรกิจ หน่วยงานดังกล่าวได้ให้นิยามถึงการควบคุมภายในว่า “กระบวนการในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ในบริษัท ซึ่งจัดทำเพื่อสร้างหลักประกันที่สมเหตุสมผลในการบรรลุวัตถุประสงค์3 ประการ คือ


ก. การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล (Operation Objective) ซึ่งการมีระบบควบคุมภายในที่ดีจะลดการเปลืองเปล่าของทรัพยากร เช่น เงินทุน เวลา และได้ผลผลิตในต้นทุนต่ำสุด และลดการรั่วไหล เช่น การฉ้อฉลภายในองค์กร


ข.การจัดทำรายงานที่เชื่อถือได้ (Reporting Objective) เมื่อการปฏิบัติงานในข้อแรกเป็นไปด้วยความถูกต้อง ไม่เปลืองเปล่า ไม่รั่วไหล ผลแห่งการกระทำย่อมปรากฎในรายงานทางการเงิน หรือรายงานอื่น และการมีระบบควบคุมภายในที่ดีจะเป็นหลักประกันให้รายงานทางการเงินมีความตรงไปตรงมา น่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้บริหาร กรรมการ และผู้ถือหุ้น ตัดสินใจในการดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ


ค.เป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และกฎหมาย (Compliance Objective) การควบภายในนั้นต้องมีผลเป็นการป้องกันการกระทำผิดกฎระเบียบ หรือกฎหมาย ซึ่งการกระทำการฝ่าฝืนย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจที่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตภายใต้กฎหมาย หากไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบเงื่อนไขแห่งใบอนุญาตนั้นได้ ธุรกิจนั้นอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้


ผู้ก่อตั้ง และเทวดานั้นมักหลงลืม หรือ ไม่เห็นความสำคัญในการควบคุมภายในที่ดีในบริษัทตั้งแต่ยังไม่เริ่มตั้ง ผู้อ่านอาจลองสังเกตเวลาท่านเข้าเว็บไซต์ของ Start up ต่างๆ ที่อยู่ในตลาดนั้นส่วนใหญ่ไม่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ หรือภารกิจสำหรับองค์กรที่ชัดเจน หรือไม่มีการกำหนดคุณค่าทางจริยธรรมสำหรับองค์กร หรือเรื่องละเอียดอย่างคุณสมบัติตามตำแหน่งของบุคคลากร รวมถึงการรักษาสภาพความสามารถของบุคคลากร ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในการทำให้องค์กรเดินอย่างมีทิศทาง และโปร่งใส


นอกจากนี้ Start Up หลายๆแห่งยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และวิธีป้องกัน หรือแก้ไขผลที่จะเกิดกับกิจการ Start Up นั้นๆ กลายเป็นยูนิคอร์นปิดตาแล้วเดินลงดงหนาม ซึ่งองค์กรที่ดีมักจะประเมินทิศทางที่องค์กรเดิน หรือขั้นตอนการทำงาน การดำเนินธุรกิจว่ามีความเสี่ยงประการใด เช่น การดำเนินธุรกิจของ Start up ที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินซึ่งให้กู้กับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงให้ได้ว่าการดำเนินธุรกิจนั้น ลูกหนี้อาจจะผิดนัดหลายรายส่งผลต่อสภาพคล่อง และจะมีการกำหนดขั้นตอนการทำงานเพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ก่อนให้สินเชื่อ เป็นต้น อีกทั้งต้องกำหนดมาตรการในการตั้งรับกรณีลูกหนี้ผิดนัด เช่นการบังคับชำระหนี้ หรือการระดมทุนสำรองแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง


สิ่งสำคัญอีกประการที่ยูนิคอร์นลืมทำคือ การสื่อสารข้อมูลข่าวสารภายในองค์กรว่ามีปัจจัยใดกระทบธุรกิจบ้าง หรือ องค์กรกำลังทำอะไรอยู่ ทำให้แต่ละฝ่ายทำงานไปคนละทางซึ่งทำให้คาดหวังประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เกิดขึ้นคงเป็นไปได้ยาก หรือในบางครั้งองค์กรจะมีอาการหนักถึงขนาดไม่ทราบว่าตนเองนั้นไม่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเหลืออยู่ เนื่องจากไม่มีระบบประเมินผล หรือระบบติดตาม ผู้เขียนเคยไปวางแผนการลงทุนในกิจการต่างประเทศของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งทุกอย่างใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ เงื่อนไขการดำเนินธุรกิจ มาตรฐานการบัญชี ข้อจำกัดของจำนวนกำลังคน ทำให้การปรับเปลี่ยนแผนการผลิต และขั้นตอนการผลิตให้เป็นไปตามระบบควบคุมภายในไม่มีการตรวจสอบประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การรับรู้ต้นทุน การวางแผนการผลิต การกำหนดสูตรการผลิต ผิดพลาดทำให้มีการขายสินค้าที่ราคาขาดทุน (Sell at loss) โดยไม่รู้ตัว และไม่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในงบการเงิน ทำให้ปัญหาสะสมจนส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่ออันตรายต่อความอยู่รอดขององค์กรอย่างร้ายแรง


เมื่อยูนิคอร์นเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการควบคุมภายในแล้วทั้งผู้ก่อตั้ง และเทวดา ก็ควรกำหนดมาตรการควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายไว้ก่อนการเริ่มก่อตั้งบริษัทเนื่องจากยังไม่มีกิจกรรมทางธุรกิจทำให้กำหนดนโยบาย และระบบควบคุมภายในได้ง่ายกว่าองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจไประยะหนึ่งแล้วจึงวางระบบควบคุมภายใน ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลากรในบริษัทจะมีความเคยชินกับแบบการปฏิบัติงานและแก้นิสัยยาก ระบบบันทึกและรายงานผลต่างๆก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ธุรกิจเสี่ยงต่อการสะดุด หรือไม่ประสบความสำเร็จในการวางระบบ


เมื่อผู้ก่อตั้งและเทวดาได้ตกลงในการกำหนดมาตรฐานเงื่อนไขต่างๆ เช่น การกำหนดให้มีการจ้างที่ปรึกษาวางระบบควบคุมภายในบริษัทเมื่อแรกตั้งโดยยึดมาตรฐาน หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล เช่น COSO และกำหนดวงรอบการตรวจสอบภายในของบริษัท รวมไปถึงตัวบุคคลที่จะทำการตรวจสอบ ประเมินผลระบบควบคุมภายใน (Internal Auditor) ว่าเป็นบุคคลากรในบริษัท หรือบุคคลภายนอก เป็นต้น เมื่อทำการตกลงกันได้แล้วทั้งผู้ก่อตั้ง และเทวดาจะร่วมกันกำหนดเรื่องดังกล่าวในสัญญาผู้ถือหุ้น และข้อบังคับบริษัท ซึ่งความตกลงส่วนนี้จะเชื่อมโยงกับภารกิจของที่ปรึกษากฎหมายในแง่มุมของการจัดทำเอกสารดังกล่าวให้มีความรัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมายที่ใช้บังคับ


2. ระบบบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ระบบบัญชีของบริษัทนั้นเป็นเสมือนวิธีการบันทึก “กล่องดำ” ของเครื่องบิน ซึ่งจะบันทึกว่าเครื่องบินมีท่าทางการบินอย่างไร ความสูง ความเร็วเท่าใด และข้อมูลทางเทคนิคอื่นๆ อีก เพื่อนำมาศึกษาหาสาเหตุกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือศึกษาทางเทคนิค ระบบบัญชีก็เช่นเดียวกัน ระบบบัญชีจะมีวิธีการบันทึกมากกว่า รายรับ รายจ่าย ตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ระบบบัญชีเป็นการบันทึกวิธีการทำธุรกิจขององค์กร และอาจสะท้อนถึงผลแห่งระบบควบคุมภายในของบริษัทด้วย โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากระบบบัญชีของบริษัทนั้นเรียกว่า “รายงานทางการเงิน”


การบันทึกบัญชีนั้นจะดำเนินการภายใต้มาตรฐานกฎหมายของแต่ละประเทศ และคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมในประเทศนั้นๆ โดยองค์กรธุรกิจประเภทเดียวกันจะต้องมีวิธีการบันทึกบัญชีที่เหมือนกันซึ่งนักบัญชีจะเรียกว่า “มาตรฐานการรายงานทางการเงิน” เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลทั่วๆไปซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้ จะต้องใช้ “มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ” (Non-Publicly Accountable Entities (NPAEs) ซึ่งบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จะถูกบังคับไว้ในมาตรา 8 พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 คือ องค์กรธุรกิจที่ไม่ได้ 1)ออกตราสารทุน หรือตราสารหนี้ เสนอขายต่อประชาชน หรือนำส่งงบการเงินต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาออกหลักทรัพย์เสนอขายต่อประชาชน (กลต.) 2) กิจการที่ดูแลสินทรัพย์ของบุคคลในวงกว้าง เช่น ธนาคาร ประกันชีวิต กองทุนต่างๆ 3) บริษัทมหาชนจำกัด สำหรับองค์กรที่เข้าข่าย 1-3 นั้น ต้องทำ “มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ” (Publicly Accountable Entities (PAEs)


เมื่อพิจารณาโดยรวบรัดแล้ว NPAEs นั้น ใช้สำหรับผู้มีส่วนได้เสียในกิจการน้อย เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ถือหุ้นน้อยราย และไม่ได้ถือในลักษณะถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้มีการระดมเงินทุนจากประชาชน และกิจการไม่ซับซ้อน ซึ่ง NPAEs นั้น มีมาตรฐานที่กระทัดรัด ไม่ซับซ้อนมาก เพียง 1 ฉบับ 22 บท รายละเอียดไม่เกิน 100 หน้า เท่านั้น โดยองค์กรธุรกิจที่ใช้มาตรฐานนี้จะจัดทำบัญชีงบแสดงฐานะทางการเงิน (งบดุล) งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น และหมายเหตุประกอบงบการเงินอย่างง่าย


ในขณะที่ PAEs นั้น จะใช้สำหรับกิจการที่มีการระดมทุน หรือกู้เงินจากประชาชน กิจการมีความซับซ้อน หรือบริหารจัดการทรัพย์สินของประชาชนส่วนมาก โดยมาตรฐานจะมีความละเอียดสูงถึง 36 ฉบับ มีความหนามากกว่า 1,000 หน้า โดยองค์กรที่ใช้มาตรฐานธุรกิจนี้จะต้องจัดทำ บัญชีงบแสดงฐานะทางการเงิน (งบดุล) งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น งบกระแสเงินสด และหมายเหตุประกอบงบการเงินแบบละเอียด


ความแตกต่างระหว่าง 2 มาตรฐานพอสังเขป คือ


ก. NPAEs ไม่ต้องทำงบกระแสเงินสด แต่ PAE นั้นต้องทำงบกระแสเงินสด ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวัดสถานะการประกอบกิจการที่ดีอย่างหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพราะสุขภาพของกิจการขึ้นอยู่กับกระแสเงินสด บริษัทที่มีกำไร แต่ยังเก็บเงินไม่ได้ต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้ค้างรับอยู่ตลอด แต่ไม่มีเงินสดจ่ายเจ้าหนี้ หรือเงินเดือนพนักงาน กิจการก็ล้มได้เหมือนกัน


ข. NPAEs นั้นหมายเหตุงบการเงินจะไม่ละเอียดมาก แต่ PAEs นั้นมีหมายเหตุงบการเงินที่ละเอียดกว่ามากเนื่องจากมีรายละเอียดในมาตรฐานมาก ซึ่งหมายเหตุดังกล่าวนั้นมีประโยชน์กับเทวดา และ ผู้ก่อตั้ง รวมถึงผู้บริหารของยูนิคอร์นมากๆ เนื่องจากหมายเหตุประกอบงบการเงินนั้น ผู้สอบบัญชีจะทำการให้ความเห็นในประเด็นความเสี่ยงต่างๆ การตั้งสำรอง


ค. PAEs นั้นมีมาตรฐานการบัญชีให้ปฎิบัติตามมากกว่า เช่น มาตรฐานบัญชีเรื่องผลประโยชน์พนักงาน หรือ Share based payment และสามารถกำหนดนโยบายทางบัญชีได้มากกว่า ซึ่งประโยชน์ในการทำบัญชีในลักษณะนี้จะมีการตรวจสอบและตั้งสำรองเพื่อลดความเสี่ยงของกิจการในอนาคต แต่อาจทำให้กำไรลดลง

ยูนิคอร์นส่วนใหญ่มักใช้มาตรฐาน NPAEs ล้วนๆ เนื่องจากเป็นค่ามาตรฐานที่บังคับให้ใช้ แต่หากเทวดา และ ผู้ก่อตั้ง มองเห็นความซับซ้อนของกิจการที่มีมากขึ้นกฎหมายการบัญชีก็อนุญาตให้นำมาตรฐานการบัญชีบางส่วนใน PAEs มาบังคับใช้ได้ แต่ต้องใช้ตลอด เช่น ยูนิคอร์นแห่งหนึ่งต้องจ้างโปรแกรมเมอร์มาจำนวนมากทำให้มีความเสี่ยงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยกรณีพนักงานลาออก ยูนิคอร์นสามารถนำมาตรฐานการบัญชีเรื่องผลประโยชน์พนักงานมาเพื่อทำการพิจารณาตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในอนาคตได้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี เทวดา และผู้ก่อตั้ง อาจไม่คาดเห็นเหตุการณ์ความซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การหาที่ปรึกษาบัญชีมาเพื่อพิจารณาเลือกมาตรฐานการบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการ และระบบควบคุมภายในของบริษัทจึงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นยูนิคอร์นดาวรุ่งระยะเติบโตที่ได้ตกลงกับเทวดาไว้แล้วว่าจะดำเนินการระดมทุนด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายต่อประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering : IPO) ก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน PAE ก่อนการเสนอขายหุ้น ซึ่งยูนิคอร์นดาวรุ่งควรศึกษาและเตรียมพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐาน PAE 2-3 ปีก่อนการ IPO ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้มาตรฐานแบบใด

จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่ายูนิคอร์นมักไม่ให้ความสำคัญในการบันทึกบัญชีให้เป็นไปมาตรฐานการบัญชี และไม่ทำการเชื่อมโยงกับระบบควบคุมภายในของบริษัท เช่น การรวบรวมการบันทึกบัญชีในหลายๆ หน่วยการขายมาไว้ในจุดเดียวทำให้ไม่สามารถประเมินต้นทุนการขาย และค่าใช้จ่ายได้ ผู้บริหารย่อมไม่สามารถเห็นปัญหาของกิจการได้ว่ามีปัญหามาจากหน่วยการขายใด หรือการรวมการบันทึกบัญชีของทั้งเดือนมาทำการบันทึกในช่วงสิ้นเดือนในคราวเดียว ซึ่งหลักการที่ถูกต้องควรทำการบันทึกในสมุดรายวันทั่วไป (General Journal) เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของกิจการตลอดเวลา และสามารถตรวจสอบความผิดปกติของการรับจ่ายเงิน หรือการดำเนินกิจการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจัดเก็บหลักฐานประกอบการลงบัญชีไม่ครบถ้วน เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีหาย สัญญาการค้าต่างๆ ไม่ตรงกับที่ลงบัญชี สุดท้ายมักจะเลือกวิธีการใช้เงินกู้ยืมกรรมการที่ไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริงเข้าแก้ไขเพื่อทำให้ปิดงบได้ ซึ่งผลร้ายของการไม่ใส่ใจทำบัญชีนั้นจะทำให้รายงานทางการเงินไม่น่าเชื่อถือ ผู้ถือหุ้นไม่สามารถตรวจสอบสถานะกิจการได้อย่างชัดเจน ไม่แม่นยำ จำนวนเงินที่เหลือในกิจการอาจไม่เท่ากับตัวเลขทีปรากฎในรายงานทางกาเงินได้ กรณีจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกิจการ กับเทวดาที่ลงทุนได้ เนื่องจากเงินจะหายจากยูนิคอร์นไปโดยไม่สมเหตุสมผล และอาจเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต เหตุการณ์ลำดับถัดไปคือการฟ้องร้องคดีขึ้น เช่น ถูกกล่าวหาว่ากรรมการกระทำการโดยทุจริต แสดงออกซึ่งความเท็จ หรือปกปิดความจริงต่อที่ประชุมใหญ่ในเรื่องฐานะการเงินของบริษัทนั้น ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 38 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 หรือกฎหมายอื่นที่ร้ายแรงกว่า เช่น ฉ้อโกง ตามมาตรา 341 ประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4-6 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ได้ หากมีข้อเท็จจริงอื่นประกอบตามองค์ประกอบความผิดเช่น มีการเสนอขายหุ้นต่อบุคคลมากว่า 10 คนขึ้นไป ซึ่งปกติองค์ประกอบความผิดนี้จะครบถ้วนตั้งแต่ผู้ก่อตั้งไป pitch งานให้บรรดาเทวดาที่มีศักยภาพในการลงทุนแล้ว หรือมีการเสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยกู้ยืมธนาคารสูงสุด โดยปกติกิจการ Start up นั้นมุ่งเห็นผลประโยชน์ในผลตอบแทนจากกิจการในลักษณะก้าวกระโดด คือมีผลตอบแทนเป็นสิบเท่า ร้อยเท่าอยู่แล้ว ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวสูงกว่าดอกเบี้ยสูงสุดธนาคารหลายสิบเท่า ผู้ก่อตั้งจึงมีการนำเสนอผลประโยชน์ ข้อเท็จจริงในลักษณะดังกล่าวให้แก่เทวดาอยุ่แล้วในช่วงยื่นข้อเสนอลงทุน


3.งานกฎหมาย ในกิจการของยูนิคอร์นในประเทศไทยนั้นมักเห็นประเด็นทางกฎหมาย และที่ปรึกษากฎหมายเป็นสิ่งไกลตัว หรือสิ่งสิ้นเปลือง และไม่มีความจำเป็น แท้จริงแล้วงานกฎหมายของบริษัทเป็นอีกหนึ่งฐานรากขององค์กรที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของกิจการ กฎหมายมีความสำคัญในหลายมิติคือ


ก. ทำให้การเจรจาต่อรองธุรกิจ หรือการจัดทำสัญญาเป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้ และเกิดความเป็นธรรมต่อคู่สัญญา ยูนิคอร์นพันธุ์ไทยมักไม่เห็นความซับซ้อนของประเด็นทางด้านกฎหมาย หรือความสำคัญทางด้านการลดความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย ยูนิคอร์นพันธุ์ไทยที่จะหาสัญญาง่ายๆ ที่ “เชื่อว่า” เหมาะสมกับกิจการของตนเองมาใช้ โดยเขียนเอง หรือโหลดจากอินเตอร์เน็ต หรือรีบลงนามในสัญญาจากลูกค้าโดยต่อรองเพียงส่วนที่เป็นเงื่อนไขทางการค้าเท่านั้น การปฏิบัติเช่นนี้ แตกต่างจากยูนิคอร์นพันธุ์ต่างชาติ หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่จะมุ่งไปหาที่ปรึกษากฎหมายองค์กรเพื่อจัดเตรียมสัญญา ประเมินความเสี่ยงในการทำสัญญา และลดข้อเสียเปรียบ หรือความเสี่ยงในการปฏิบัติตามสัญญาผู้เขียนมีอุทธาหรณ์ที่เข้าใจง่ายแต่ให้ผลร้ายแรงอย่างชัดเจน เล่าสู่กันฟังดังนี้


เรื่องที่ 1 บริษัทรับจ้างผลิตเหล็กรายหนึ่งได้รับสัญญาสั่งซื้อเหล็กสำเร็จรูปจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทดังกล่าวไม่ได้ใช้ที่ปรึกษากฎหมายในระหว่างทำสัญญา และบริษัทได้ทำการต่อรองรายละเอียดสัญญาเฉพาะราคาตามสัญญาเท่านั้นและรีบลงนามในสัญญาไปโดยไม่ทราบว่าสัญญาดังกล่าวนั้นมีการกำหนดให้ผู้ซื้อสามารถเรียกค่าเสียหายทางอ้อมได้แก่ค่า ขาดกำไร ขาดโอกาสทางธุรกิจ ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ส่งมอบสินค้าไม่ถูกต้องโดยมีคุณสมบัติผิดจากสัญญา ทำให้ผู้ซื้อเกิดความเสียหาย ผู้ซื้อจึงฟ้องคดีต่ออนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ และผู้ขายแพ้คดีต้องชำระค่าเสียหายทางอ้อมเป็นมูลค่ามากกว่า 5 เท่าของมูลค่าสินค้าตามสัญญา ซึ่งกรณีนี้หากบริษัทปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายก่อน ที่ปรึกษากฎหมายอาจกำหนดการจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกินจำนวนที่คู่สัญญายอมรับกันได้ และอาจกำหนดประเภทความเสียหายไว้เพียงแต่เฉพาะความเสียหายที่แท้จริง เช่น ต้นทุนในการเก็บรักษา และส่งคืนสินค้า ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่าค่าเสียหายทางอ้อมมาก เป็นต้น


เรื่องที่ 2 บริษัทได้ทำการซื้อขายสินค้าออกไปขายต่างประเทศโดยการซื้อขายสินค้าในเทอม FOB 2010 และมีการจ่ายเงินแบบ Letter of Credit ซึ่งการซื้อขายสินค้าประเภทนี้ผู้ขายจะต้องนำสินค้าไปส่งบนเรือของผู้ขนส่งที่ผู้ซื้อจัดหามา และความเสี่ยงภัยในสินค้าจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อสินค้าอยู่บนระวางเรือ และสายกการเดินเรือจะออกใบตราส่งสินค้าให้เพื่อให้ผู้ขายนำไปประกอบเอกสารอื่นที่จำเป็น เช่น เอกสารรับรองการทดสอบสินค้า หรือ ใบยืนยันแหล่งกำเนิดของสินค้า (Certificate of Origin) เพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารของผู้ขายตามม Letter of Credit อย่างไรก็ดีเรื่องนี้คู่สัญญาไม่ได้ตกลงส่งสินค้าที่เรือตามเทอมใน FOB แต่ส่งสินค้าที่ลานคอนเทนเนอร์ของสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง (Container Yard – CY) ส่งผลให้ผู้ขายไม่มีใบตราส่ง ทำให้ผู้ขายส่งมอบสินค้าเรียบร้อยแล้วแต่ไม่สามารถเบิกเงินค่าสินค้าตาม Letter of Credit ได้เป็นปัญหาต้องแก้ไขเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงิน เสียเวลา และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งหากบริษัททำการปรึกษาที่ปรึกษาทางกฎหมายก่อนจะพบว่าการซื้อขายในลักษณะนี้นั้นต้องทำสัญญาโดยใช้ Incoterm ในลักษณะอื่น ที่หลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่ใช้เฉพาะการค้าทางทะเล เช่น FAS FOB CFR CIF เนื่องจากเป็นเงื่อนไขการซื้อขายที่เป็นการซื้อขายทางทะเลเท่านั้น อาจต้องเลี่ยงไปทำการซื้อขายในรูปแบบเทอม CPT ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ตกลงกันตามสัญญา เมื่อส่งสินค้าถึงที่หมายแล้วผู้ดูแลสถานที่ คลังสินค้าก็จะลงนามในใบรับสินค้าและสามารถนำไปประกอบเอกสารอื่นเพื่อการเบิกเงินตามสัญญา Letter of Credit ได้


เรื่องที่ 3 เรื่องนี้ค่อนข้างหนัก เนื่องจากบริษัทได้ทำการซื้อเรือขนาดใหญ่ซึ่งมีระวางมากกว่า 5 ตัน ซึ่งมาตรา 456 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และมาตรา 27 พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ.2486 นั้นกำหนดให้การทำสัญญาซื้อขาย หรือโอนเรือนั้น ต้องทำการจดทะเบียนที่เมืองท่าซึ่งจดทะเบียนเรือนั้นโดยใช้แบบพิมพ์ของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ผู้ขายได้ทำการดัดแปลงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่หาได้จากอินเตอร์เน็ตโดยมีความเข้าใจว่าสามารถนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ในภายหลัง แต่เนื้อหาของสัญญานั้นเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดมีข้อความระบุเรื่องการโอนกรรมสิทธิเรือในวันชำระเงินและทำสัญญาซื้อขาย ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะทันที เนื่องจากข้อสัญญาขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 เมื่อบริษัทผู้ซื้อทราบความดังกล่าว และได้เรียกให้ผู้ขายทำการจดทะเบียนโอนเรือ และทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ ผู้ขายก็บิดพลิ้ว ผัดผ่อนไปเรื่อยๆ ทำให้ต้องทำการฟ้องร้องคดีเพื่อเรียกเงินค่าเรือคืนจากผู้ขาย เนื่องจากสัญญาตกเป็นโมฆะ และผลแห่งการตกเป็นโมฆะกรรมนั้นคู่สัญญาต้องกลับสู่สภาพเดิม และเรียกค่าเสียหาย ตามมาตรา 176 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แทน สร้างต้นทุนและความลำบากให้แก่บริษัทผู้ซื้อ เนื่องจากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิเรือได้ และต้องทำการฟ้องร้องเรียกค่าเรือคืน เสียเวลาและค่าทนายความ และต้องหาซื้อเรือลำใหม่เข้ามาทดแทนในเวลาอันสั้นทำให้ต้องซื้อเรือในราคาสูงกว่าปกติทั่วไป กรณีทั้งหมดจะหลีกเลี่ยงได้เพียงสละเวลาเล็กน้อยหาที่ปรึกษากฎหมายเพื่อจัดทำสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นทุกอย่างก็จะจบลงโดยง่ายเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา พร้อมทำการตกลงในรายละเอียดปลีกกย่อยที่คู่สัญญาอาจหลงลืม เช่น การกำหนดภาระค่าธรรมเนียมการโอน และที่ปรึกษากฎหมายอาจปรับปรุงข้อสัญญาที่ลดความเสี่ยงของผู้ซื้อลงได้ เช่น การกำหนดข้อสัญญาให้มีการตรวจเรือก่อนการชำระเงินมัดจำ หรือการตรวจสอบสถานะทางทะเบียนของเรือนั้นว่าติดจำนองเป็นประกันหนี้รายอื่นหรือไม่ รวมไปถึงเงื่อนไขการบอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับในจำนวนที่สมเหตุสมผล เป็นต้น


ข. ทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ประเภทของกิจการนั้น (Compliance) ในกิจการของยูนิคอร์นบางอย่างนั้นจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยูนิคอร์นหลายที่ อาจทราบไม่ทราบว่ามีกฎหมายต้องปฏิบัติตาม หรือต้องให้บริการ หรือทำการค้าโดยอยู่ภายใต้มาตรฐานของกฎหมาย โดยเฉพาะระบบกฎหมายไทยที่มีการขอใบอนุญาตมากมาย ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ถูกยึดใบอนุญาต หรือตกอยู่ภายใต้การดำเนินคดี ดังตัวอย่างต่อไปนี้


บริษัทแห่งหนึ่งต้องถือใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพในธุรกิจหลักของตนเอง ต่อมาบริษัทดังกล่าวมีผู้ร่วมลงทุนใหม่เข้ามาควบรวมกิจการ ซึ่งคู่สัญญาตกลงกันใช้วิธีควบกิจการ (Merger) แทนการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่ต้องการขาย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีขนาดเล็กจึงไม่มีการใช้ที่ปรึกษากฎหมายในการให้คำปรึกษาเพื่อทำการตรวจสอบสถานะกิจการก่อนการควบรวม (Due Diligence) ซึ่งจะที่ปรึกษากฎหมายจะทำการตรวจสอบผลกระทบทางกฎหมาย และภาษีของการควบรวมกิจการในรูปแบบต่างๆ เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสมในการควบรวมกิจการ เช่น การเข้าซื้อหุ้น หรือการควบกิจการ เมื่อการจดทะเบียนควบรวมเกิดขึ้น นายทะเบียนผู้มีหน้าที่ดูแลใบอนุญาตของบริษัทนั้นได้แจ้งให้บริษัททราบว่าบริษัทขาดคุณสมบัติในการถือใบอนุญาตเนื่องจากเป็นนิติบุคคลใหม่ สิทธิและหน้าที่ในใบอนุญาตนิติบุคคลเดิมนั้นไม่ได้รับโอนมาจากนิติบุคคลเดิมมายังนิติบุคคลใหม่ เพราะนายทะเบียนไม่ยอมรับผลแห่งการควบกิจการและให้สิทธิหน้าที่ของนิติบุคคลก่อนควบกิจการโอนไปยังนิติบุคคลใหม่ทีเกิดขึ้นหลังควบกิจการตามมาตรา 1243 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยนายทะเบียนได้ให้ความเพิ่มเติมสรุปได้ว่าการรับใบอนุญาตนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ต้องพิจารณาในสาระสำคัญเงื่อนไขการปฏิบัติตามใบอนุญาต การควบกิจการเป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญของนิติบุคคล อีกทั้งกฎระเบียบของใบอนุญาตดังกล่าวนั้นไม่ได้กำหนดผล หรือขั้นตอนในการควบรวมกิจการโดยเฉพาะเหมือนกฎหมายอื่นเป็นการเฉพาะ เช่น มาตรา 57 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ซึ่งกำหนดให้บัตรส่งเสริมการลงทุนนั้นมีสภาพใช้ได้อีกไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันจดทะเบียนรวมกิจการ และสามารถยื่นเรื่องแจ้งการรวมกิจการต่อคณะกรรมการเพื่อให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้บัตรส่งเสริมสามารถใช้ต่อไปได้เท่าที่สิทธิในบัตรส่งเสริมเดิมมีอยู่ก็ได้


ผลแห่งการที่บริษัทไม่มีสิทธิถือใบอนุญาตสืบต่อจากนิติบุคคลเดิมนั้นส่งผลให้บริษัทหมดสิทธิในการให้บริการภายใต้ใบอนุญาตส่งผลให้ความสามารถในการประกอบธุรกิจหยุดลงทันที ส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ และผิดสัญญา กับผู้รับบริการ อย่างไรก็ดีเมื่อบริษัทได้เข้ามาหาที่ปรึกษากฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ที่ปรึกษากฎหมายจึงร่วมกับบริษัทยื่นขอรับใบอนุญาตใหม่ และเจรจากับผู้ว่าจ้างเพื่อขอสลับงวดงานซึ่งสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตมาทำส่งให้แก่คู่สัญญาก่อน และขอความยินยอมให้บริษัททำการจ้างช่วงบริษัทอื่นที่มีใบอนุญาตได้ โดยบริษัทจะต้องรับผิดต่อคู่สัญญาเสมือนได้ทำงานตามสัญญาด้วยตนเอง และบริษัทจะเป็นผู้ควบคุมคุณภาพ และดำเนินการตามสัญญาเท่าที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาต พร้อมทั้งให้บริษัทเจรจากับผู้รับจ้างช่วงทำข้อสัญญาห้ามผู้รับจ้างช่วงติดต่อกับลูกค้าของบริษัทโดยตรง และห้ามติดต่อทำธุรกิจกับลูกค้าของบริษัทในลักษณะเดียวกับบริษัทในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการแก้ไขในลักษณะดังกล่าวก็บรรเทาผลร้ายที่มีต่อบริษัท และลูกค้าไปได้ในระดับหนึ่ง แต่บริษัทต้องรับภาระต้นทุนสูงขึ้นจากการจ้างช่วง เรียกว่าที่ปรึกษากฎหมายยังเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ได้ในเวลาที่ไม่เลวร้ายเกินไป


จากส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้อธิบายแง่มุม และผลกระทบต่างๆ ของ Back office Support นั้น จะเป็นการสร้างความตระหนักให้ผู้มีส่วนได้เสียในยูนิคอร์นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น เทวดา หรือ ผู้ก่อตั้ง หรือแม้กระทั่งบุคคลากรภายในยูนิคอร์นเองให้พิจารณาสถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับยูนิคอร์นเองแล้วจะพบว่าการดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงระบบ Back Office Support นั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ทำให้เทวดา ผู้ก่อตั้งสามารถตรวจสอบทิศทางกิจการได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีข้อมูลในการจัดการองค์กรได้ กิจการดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด และลดความเสี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับยูนิคอร์นได้อย่างชัดเจน และการลงทุนด้าน Back office support เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาบัญชีหรือระบบควบคุมภายในนั้นมีค่าใช้จ่ายและเสียเวลาน้อยกว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภายหลังอย่างเทียบกันไม่ได้ การลงทุนด้าน Back Office Support จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการดำเนินธุรกิจของยูนิคอร์นในปัจจุบัน

ดู 454 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page