ตราบใดที่ยังมีธุรกิจเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ การจ้างงานย่อมเกิดขึ้นเป็นของคู่กัน แต่ปัญหาคือจะมีสักกี่สถานประกอบการที่รู้ว่าการจ้างแบบไหนคือจ้างแรงงาน แบบไหนไม่เป็นการจ้างแรงงานเพราะถ้าเข้าคำว่าจ้างแรงงานเมื่อไร นายจ้างกับลูกจ้างจะต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายแรงงานทันที หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ย่อมเกิดผลกระทบแน่นอน เช่น นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างทันทีโดยไม่มีความผิด นายจ้างต้องรับผิดจ่ายเงินค่าชดเชยตามอายุงานให้ลูกจ้าง เพราะลูกจ้างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เป็นต้น แต่หากทั้งสองฝ่ายไม่มีความสัมพันธ์แบบสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างอาจเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวก็ได้ เพราะลูกจ้างไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน ได้แก่
1. เป็นสัญญาต่างตอบแทน หมายถึง ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้นายจ้าง ในขณะเดียวกันนายจ้างก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ เช่น ลูกจ้างไม่ยอมทำงาน นายจ้างก็มีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างให้ (ประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 369) ในทางกลับกันหากลูกจ้างทำงานแล้วนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างก็ไม่ต้องทำงานให้นายจ้าง
2. เรียกคู่สัญญาว่า นายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ได้เรียกชื่อคู่สัญญาเป็นอย่างอื่น เช่น ผู้ว่าจ้าง กับ ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของ หรือเรียกว่า ตัวการ กับ ตัวแทน ตามสัญญาตัวแทน อย่างไรก็ตามสัญญาใดจะเป็นจ้างแรงงานหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อที่เรียกคู่สัญญาเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าจะให้ถูกต้องก็ควรใช้ชื่อสัญญาว่า “จ้างแรงงาน” และเรียกชื่อคู่สัญญาว่า นายจ้าง กับ ลูกจ้าง โดยนายจ้างจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ส่วนลูกจ้างต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น
3. ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้างและนายจ้างตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้ คำว่า “ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้าง” หมายถึง ลูกจ้างจะใช้กำลังแรงงานหรือเป็นงานที่ใช้ความคิดก็ได้ ส่วนคำว่า “นายจ้างตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างตอบแทนการทำงาน” หมายถึง นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน
4. ลูกจ้างต้องทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายถึง ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งและอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง ต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ หากบุคคลที่ตกลงเข้าทำงาน สามารถทำงานได้อย่างอิสระปราศจากการควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง ถือว่านิติสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงาน เช่น ช่างตัดผมทำงานในร้านโดยเจ้าของไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชา ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า เจ้าของร้านและช่างตัดผมไม่มีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน (ฎ. 352/2524)
5. สัญญาจ้างแรงงานทำขึ้นโดยถือตัวคู่สัญญาเป็นสาระสำคัญ โดยแต่ละฝ่ายต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นคู่สัญญา เพราะคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องผูกพันกันในฐานะนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลานาน ในประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 577 ได้กล่าวว่า นายจ้างจะโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่บุคคลอื่นโดยลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้ ทั้งหมดนี้ก็คือลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น หากนิติสัมพันธ์ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน คู่สัญญาก็จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน จึงต้องยึดตามข้อสัญญาที่ตกลงกันเป็นหลัก
บทความฉบับหน้าผมจะยกตัวอย่างสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายและสัญญาใดไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานนะครับ
ทนายณัฐพสิษฐ์ ศมาวรรตกุล
Comments