top of page

ร้องทุกข์คดีอาญายังไงให้หายคลายทุกข์ โดย ทนายปรีชา ส่งสัมพันธ์


ผมเคยจอดรถและเข้าห้องน้ำที่สถานีบริการน้ำมันหรือปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร พบว่าหน้าห้องน้ำมีแผ่นเหล็กคล้ายระฆังแขวนพร้อมกับแท่งเหล็กแท่งหนึ่ง มีข้อความเขียนว่า “ถ้าห้องน้ำไม่สะอาดให้เคาะระฆัง” ทำให้นึกถึงการร้องทุกข์สมัยพ่อขุนรามคำแหงที่มีกระดิ่งแขวนที่ประตูวังตามศิลาจารึกว่า “ใครทุกข์ร้อนเจ็บท้องข้องใจก็ไปสั่นกระดิ่งอันนั้น” พ่อขุนรามคำแหงได้ยินก็จะออกมาถาม ที่ศาลไคฟงของท่านเปาก็ใช้วิธีให้ราษฎรตีกลองร้องทุกข์เหมือนกัน เข้าใจว่าผู้จัดการปั๊มแห่งนี้น่าจะเอาไอเดียมาจากพ่อขุนรามคำแหงมากกว่าเพราะใกล้เคียงกว่าซึ่งวิธีดังกล่าวก็น่าจะได้ประโยชน์เพราะนอกจากผู้จัดการปั๊มไม่ต้องไปเดินตรวจห้องน้ำบ่อยๆ แล้วยังเป็นการมอบให้ผู้ใช้บริการเป็นคนตัดสินว่าความสะอาดของห้องน้ำเพียงพอหรือไม่ด้วย การร้องทุกข์ว่าห้องน้ำไม่สะอาดนั้นเป็นเรื่องง่ายมาก เพียงแค่ตีระฆังดังๆ เท่านั้น แต่เมื่อตีระฆังแล้วจะมีคนมาแก้ไขทำความสะอาดให้หรือไม่ก็ตาม คนร้องก็ได้ปลดทุกข์แน่ เพียงแต่ห้องน้ำอาจไม่ค่อยสะอาดหรือไม่สะดวกเท่านั้น ต่างกับคำร้องทุกข์ในคดีอาญาซึ่งยุ่งยากและเสียเวลามากกว่ากันแยะ เพราะต้องเดินทางไปที่สถานีตำรวจหรือโรงพัก บางครั้งก็ต้องเสียเวลารอคิวหรือรอพนักงานสอบสวนเป็นเวลานาน เพราะพนักงานสอบสวนอาจไม่อยู่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุนอกโรงพัก เมื่อร้องทุกข์แล้วบางทีก็ไม่หายคลายทุกข์ กลายเป็นเรื่องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายและเหนื่อยยากต่อไปอีก


คำว่า “ร้องทุกข์” นั้น เป็นภาษากฎหมาย ร้องทุกข์ในทางอาญาหมายถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ได้ ซึ่งการกระทำนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและการ กล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ


คำร้องทุกข์นั้นบางคนพูดเป็นภาษาสามัญว่า แจ้งความ หรือบางคนเรียกรวมว่า แจ้งความร้องทุกข์ แต่ความจริงแล้ว “แจ้งความ” กับ “ร้องทุกข์” ไม่เหมือนกันทีเดียว การแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนนั้นมีความหมายกว้างกว่าคำว่าร้องทุกข์เพราะจะแจ้งเรื่องอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นความผิดในคดีอาญา เช่น แจ้งความเอกสารหาย หรืออาจจะแจ้งความเรื่องความผิดทางอาญาก็ได้ เช่น แจ้งความเรื่องถูกลักทรัพย์ไป คนที่จะร้องทุกข์นั้น กฎหมายจำกัดว่าจะต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้น แต่ผู้เสียหายก็อาจจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนก็ได้

ในคดีอาญาแผ่นดินนั้นกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง คดีอย่างเช่น ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย นั้น ผู้เสียหายอาจจะไปร้องทุกข์เพื่อให้พนักงานสอบสวนทราบเรื่องการกระทำผิดเพื่อสอบสวนความผิด แต่แม้ไม่มีผู้เสียหายไปร้องทุกข์เลย พนักงานสอบสวนก็อาจดำเนินการเองได้ แต่ในคดีความผิดส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น หากผู้เสียหายไม่ไปร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนไม่ได้เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ในความผิดประเภทหลังนี้กฎหมายยังมีอายุความวางข้อกำหนดเรื่องเวลาด้วยว่าการร้องทุกข์ในความผิดส่วนตัวนั้นต้องทำภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด (1) เรื่องที่ควรรู้อย่างหนึ่งก็คือ การร้องทุกข์ นั้น ผู้เสียหายไม่จำเป็นว่าจะต้องรู้ว่าใครกระทำผิดก็ได้ มีคนจำนวนมากเมื่อได้รับความเสียหายแต่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิดก็มักไม่ไปร้องทุกข์ เพราะคิดว่าร้องทุกข์ไม่ได้หรือคิดว่าร้องทุกข์ไปก็เสียเวลาเปล่า


ในช่วงระยะเวลาที่ผมรับราชการเป็นอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกลุ่มคนร้ายได้พร้อมกับจักรยายนต์และจักรยานหลายคัน พนักงานสอบสวนติดตามหาเจ้าของโดยดูจากคำร้องทุกข์ก็พบว่ามีเพียงรายสองรายเท่านั้น นอกนั้นไม่มีผู้ใดร้องทุกข์หรือแจ้งความ ทั้งนี้เพราะเจ้าของรถส่วนใหญ่ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถติดตามจับคนร้ายได้ เนื่องจากไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์และไม่อยากเสียเวลาร้องทุกข์ ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องหาให้ได้หลายกรรมของการกระทำผิด และไม่สามารถแจ้งเจ้าของทรัพย์ให้มาขอรับทรัพย์ของกลางคืน


การร้องทุกข์ในคดีอาญานั้นถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาสำคัญทางอาญาขั้นต้นที่นำไปสู่การพิจารณาความผิดของผู้กระทำผิด และการพิพากษาลงโทษจำเลยในที่สุด ทำให้การสืบพยานในศาลมักจะมีประเด็นเรื่องคำร้องทุกข์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอยู่เสมอ การร้องทุกข์ที่ล่าช้าก็อาจเป็นเหตุให้จำเลยยกข้อต่อสู้ได้ว่าไม่ได้ทำผิดหรือไม่มีความผิดเกิดขึ้นจริง


เมื่อครั้งผมยังรับราชการเป็นพนักงานอัยการที่จังหวัดปทุมธานีมีผู้เสียหายที่เป็นหญิงไปร้องทุกข์ว่าถูกจำเลยข่มขืน หลังเกิดเหตุ 4-5 วัน เมื่อพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้เสียหายไปตรวจที่โรงพยาบาล ใบรายงานชันสูตรของแพทย์ก็ไม่พบร่องรอยคราบอสุจิของจำเลยทำให้ขาดหลักฐานบางอย่างไป ในชั้นศาลจำเลยยกข้อต่อสู้ไม่ได้ข่มขืนผู้เสียหาย เพราะหากข่มขืนผู้เสียหายจริงผู้เสียหายก็น่าจะต้องมาร้องทุกข์ตั้งแต่หลังเกิดเหตุในวันแรกแล้วและก็ไม่มีหลักฐานใดว่าจำเลยทำผิดนอกจากถ้อยคำของผู้เสียหายปากเดียวหลังเกิดเหตุหลายวัน ฝ่ายผู้เสียหายเบิกความว่ามีความอับอายจึงลังเลไม่ได้ไปร้องทุกข์

คดีนี้ทำให้คดีต้องมีการสืบพยานกันหลายปาก ข้อสงสัยมาจากการร้องทุกข์ล่าช้าข้างต้น

วิธีการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไรและให้การกับเจ้าหน้าที่อย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายนั้นมักเป็นประเด็นสำคัญในความผิดส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ เพราะการร้องทุกข์ที่ไม่ถูกต้องจะมีผลทำให้การแจ้งความนั้นไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายและเมื่อไม่มีคำร้องทุกข์อันกระทำโดยถูกต้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ทราบความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำผิด พนักงานสอบสวนก็ไม่อาจทำการสอบสวนหรือดำเนินคดีให้ได้ และผู้เสียหายก็ไม่อาจจะดำเนินการฟ้องคดีด้วยตนเองได้เช่นกัน จึงมีคดีอาญาในความผิดส่วนตัวจำนวนมากที่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยเหตุผลว่าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย


ข้อผิดพลาดในเรื่องการร้องทุกข์ในความผิดส่วนตัวอันยอมความได้มักเกิดขึ้น 3 ประการ


ประการแรก ผู้เสียหายลังเลไม่ไปร้องทุกข์เพราะรู้ว่าต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนหรือบางเรื่องไม่แน่ใจว่าจะดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดดีหรือไม่ และบางทีก็ก็เกรงว่าอีกฝ่ายอาจแจ้งความหรือฟ้องตนกลับว่าแจ้งความเท็จหรือหมิ่นประมาท ความจริงแล้วในการร้องทุกข์ ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องระบุว่าผู้ใดกระทำผิดในข้อหาใดก็ได้ เพียงแต่แจ้งความระบุข้อเท็จจริงที่มีความผิดและความเสียหายเกิดขึ้นแล้วและแจ้งว่าผู้ใดได้กระทำหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำนั้นอย่างไรก็เพียงพอแล้วเป็นหน้าที่ของพนักงานและพนักงานอัยการจะสืบสวนสอบสวนและสรุปความเห็นว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือผู้เกี่ยวข้องนั้นได้กระทำผิดหรือไม่ และการกระทำนั้นเป็นความผิดข้อหาหรือความผิดฐานใด ในเรื่องความวิตกกังวลของผู้เสียหายที่จะถูกฟ้องกลับข้างต้นนั้นเคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาพิพากษาว่า “หากข้อความที่จำเลยแจ้งความเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏที่เกิดขึ้นจริง ไม่ถือเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกแจ้งความก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นความเท็จ แม้ผู้แจ้งจะแจ้งให้ดำเนินคดีด้วยก็น่าเชื่อว่ากล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตนซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นความผิดใดหรือไม่”(2)

ดังนั้น การแจ้งความเฉพาะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่จะถือว่าเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จนั้นผู้แจ้งความหรือร้องทุกข์ต้องรู้ว่าข้อความที่ตนแจ้งเป็นความเท็จ ถ้าผู้ร้องทุกข์เชื่อโดยมีเหตุผลอันควรว่าเป็นความจริงแล้วจะมี่ความผิดฐานแจ้งความเท็จ(3)

ประการที่สอง ข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งของการร้องทุกข์ก็คือการใช้ถ้อยคำที่ร้องทุกข์ไม่ถูกต้องเนื่องจากคำร้องทุกข์นั้นตามกฎหมายกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ไปร้องทุกข์นั้นต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษการใช้ถ้อยคำหรือให้ถ้อยคำหรือเขียนระบุในคำร้องทุกข์ซึ่งทำให้แปลความว่าไม่มีเจตนาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น มาแจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐาน(4) หรือ มาแจ้งเพราะต้องการขอรับเช็คคืนหรือเงินคืน(5) แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานหรือไม่ให้ขาดอายุความ(6) นั้น ศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่ใช่การร้องทุกข์ ข้อความที่กฎหมายต้องการตามคำวินิจฉัยของศาลก็คือร้องทุกข์เพื่อประสงค์ดำเนินคดีกับบุคคลที่ระบุว่ากระทำผิดหรือประสงค์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเพื่อให้นำตัวบุคคลที่อ้างว่ากระทำผิดนั้นมาลงโทษ เช่น การใช้ถ้อยคำว่าขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจนถึงที่สุดหรือขอให้เจ้าหน้าที่ไปจับกุมผู้นั้นมาลงโทษ ปัญหาความผิดพลาดในถ้อยคำร้องทุกข์นั้นอาจจะเกิดจากผู้ร้องทุกข์ไม่ทราบข้อกฎหมายว่าต้องระบุข้อความอย่างไรจึงจะถือเป็นคำร้องทุกข์ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นชาวบ้านและบุคคลทั่วไปนั้นส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับคดีความ จะไม่คิดว่าจะต้องมอบหมายให้ทนายความดำเนินการเพราะเชื่อว่าเมื่อแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เพียงพอแล้ว พนักงานสอบสวนเองส่วนใหญ่ก็ไม่เคยแนะนำให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับข้อความและผลของคำร้องทุกข์ของผู้ที่มาแจ้งความ บางครั้งการบันทึกถ้อยคำร้องทุกข์ลงในบันทึกประจำวันส่วนใหญ่กระทำโดยตำรวจชั้นประทวนและให้พนักงานสอบสวนลงชื่อ


รายงานประจำวันของตำรวจนั้นมี 2 ประเภท คือ รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและรายงานประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน

ผู้ที่ประสงค์จะร้องทุกข์ส่วนใหญ่เมื่อเห็นตำรวจบันทึกลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีก็คิดว่าใช้ได้แล้ว และมักจะคิดว่างานร้องทุกข์นั้นเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจน่าจะรู้ดีว่าควรบันทึกอย่างไรจึงจะมีผลในทางกฎหมาย ผู้ร้องทุกข์บางรายแทบไม่ได้อ่านข้อความที่เขียนด้วยลายมือหวัดๆ ตวัดหางซึ่งแทบอ่านไม่ออกของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้บันทึกประจำวันด้วยซ้ำ นอกจากนี้ผู้ร้องทุกข์บางคนนั้นแม้จะเห็นว่าข้อความที่มีการบันทึกไม่ค่อยชัดเจนหรือไม่ถูกต้องแต่ก็มีความเกรงใจเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กล้าท้วงติงหรือขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแก้ไขเพิ่มเติมข้อความที่จดไป


วิธีร้องทุกข์ที่ดีนั้นถ้าผู้ร้องทุกข์ตระเตรียมทำเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าแล้วนำไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะการสะดวกเพราะสามารถกลั่นกรองข้อความโดยละเอียด เมื่อเจ้าหน้าที่ลงบันทึกประจำวันก็เพียงตรวจดูว่าตรงกับที่เขียนไว้นั้นหรือไม่

ประการที่สาม คำร้องทุกข์นั้นตามกฎหมายกำหนดว่าต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดขึ้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับ และชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้

เคยมีคดีที่มีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน แต่ผู้เสียหายระบุชื่อเพียงบางคนและศาลพิพากษาว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาจะให้ผู้ที่ไม่ได้ระบุชื่อให้ต้องรับโทษจึงไม่ได้ระบุในคำร้องทุกข์ถึงคนๆ นั้น(7) มีตัวอย่างว่ามีการร้องทุกข์ว่าบริษัทกระทำผิดแต่ไม่ได้ร้องทุกข์กรรมการบริษัทในความผิดส่วนตัว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนและอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดี(8)

ดังนั้น ในการร้องทุกข์หากสามารถทำได้จึงต้องระบุให้ครบว่ามีผู้ร่วมกระทำผิดกี่คน กรณีไม่ทราบหรือไม่แน่ใจก็อาจระบุแจ้งไว้ว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องและขอให้บันทึกว่าหากพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วพบว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องร่วมทำผิดหรือเกี่ยวข้องก็ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ร่วมกระทำผิดนั้นด้วยทุกคน

ในกรณีไม่ทราบหรือไม่รู้ว่าใครกระทำผิด กฎหมายต้องการเพียงให้ระบุชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ เพราะบางครั้งผู้เสียหายเองก็ไม่ทราบว่าผู้กระทำผิดชื่ออะไร หรือเป็นใคร เช่นกรณีฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงเอาทรัพย์ไป ผู้เสียหายอาจเห็นแต่หน้าตาแต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร หรือการหลอกลวงอาจไม่บอกชื่อหรือใช้ชื่อคนอื่น หรือกรณีลักทรัพย์อาจไม่มีคนเห็นว่าใครเอาทรัพย์ไป ดังนั้น การร้องทุกข์จึงอาจเพียงระบุที่อยู่ รูปร่าง หน้าตา หรือข้อมูลอื่นๆ เท่าที่ทราบ เท่าที่จะทำได้แก่พนักงานสอบสวนก็ได้


บทสรุปและข้อเสนอแนะ


แม้จะมีข้อกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาของศาลเกี่ยวกับคำร้องทุกข์มานานต่อเนื่องมากกว่า 50 ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดส่วนตัวที่ศาลยกฟ้องเกี่ยวกับคำร้องทุกข์จำนวนมาก ทำให้ความประสงค์ของผู้เสียหายจะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่บรรลุผล

คดีที่ศาลยกฟ้องนั้นก็ด้วยเหตุผลในข้อกฎหมายง่ายๆ ว่า เมื่อคำร้องทุกข์ไม่ถูกต้องก็เสมือนไม่มีคำร้องทุกข์ และเมื่อไม่มีคำร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่ทราบถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด พนักงานสอบสวนก็ไม่อาจสอบสวนต่อไปได้ หากทำไปก็เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และผู้เสียหายจะฟ้องคดีเองก็ไม่ได้เช่นกัน

คดีที่มีการยกฟ้องเพราะเรื่องคำร้องทุกข์นั้น คำพิพากษาจะมีตุผลเพียงง่ายๆ สั้นๆ เพราะศาลไม่ต้องพิจารณาหาหลักฐานข้อเท็จจริงในเรื่องอื่นๆ อีก แม้จะมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้วก็ตาม


เหตุของการยกฟ้องนั้น ถ้าหากเทียบกับการเล่นกีฬาก็เหมือนกับผู้เล่นฝ่ายหนึ่งผิดกติกา แพ้ฟาล์ว ผู้เสียหายเปรียบเสมือนคู่แข่งขันฝ่ายหนึ่งที่ถูกไล่ออกจากสนามเพราะผิดกติกา โดยกรรมการไม่ดูผลแพ้ชนะ แต่กติกาของกีฬานั้นน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่ากติการ้องทุกข์ เพราะเงื่อนไขหรือข้อความที่กฎหมายต้องการในคำร้องทุกข์นั้นเข้าใจยากและบางเรื่องคนทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เข้าใจหรือทำโดยผิดพลาด หรือเพราะขาดความละเอียดรอบคอบ

กีฬาฟุตบอลที่มีการไล่นักกีฬาฝ่ายหนึ่งออกจากสนามทำให้ผู้เล่นมีไม่ถึง 11 คน ฝ่ายนั้นจะมีโอกาสแพ้สูง แต่ยังมีโอกาสแข่งขันต่อไปได้ แต่กีฬามวยที่นักมวยถูกจับแพ้เพราะชกผิดกติกา นักมวยฝ่ายนั้นจะไม่มีโอกาสต่อสู้ต่อไปเพราะจะถูกจับแพ้ทันทีและผู้ชมจะรู้สึกผิดหวังที่เสียเงินแต่ไม่ได้ดูกีฬานั้น คดีที่ถูกยกฟ้องเพราะคำร้องทุกข์ก็คล้ายกับกีฬามวย แต่กีฬามวยที่นักมวยถูกจับแพ้ฟาล์วจะไม่ค่อยเกิดเหมือนคดีในศาลที่มีการยกฟ้องเพราะเรื่องร้องทุกข์

คดีที่ผู้เสียหายแพ้คดีเพราะเรื่องร้องทุกข์ไม่ถูกต้องนั้นบางครั้งก็ไม่ได้มาจากตัวผู้เสียหายแต่เกิดจากการบันทึกข้อความของเจ้าหน้าที่ผิดพลาด เป็นเหตุให้ความเสียหายของผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยา ไม่หายคลายทุกข์และต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งการเสียเวลาไม่เฉพาะคู่คดีเท่านั้นแต่ยังอาจรวมไปถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี


ในขณะนี้มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายให้ผู้เสียหายสามารถทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจท้องที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุ แต่วิธีที่จะให้ผู้เสียหายหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจดบันทึกคำร้องทุกข์หรือแนะนำประชาชนอย่างไรให้ดำเนินการร้องทุกข์โดยถูกต้องนั้นไม่เคยมีผู้ใดกล่าวถึง


ความจริงแล้วนอกจากการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าใจในเรื่องการลงบันทึกประจำวันแล้ว หากทุกสถานีตำรวจจะได้มีการคิดทำแบบฟอร์มคำขอร้องทุกข์เพียงสั้นๆ อธิบายถึงข้อความที่กฎหมายต้องการในการร้องทุกข์ หรือทำเป็นแบบฟอร์มกึ่งสำเร็จรูปให้ผู้ประสงค์จะร้องทุกข์ได้กรอกข้อความโดยใส่ข้อความที่กฎหมายต้องการไว้ในเอกสาร ส่วนรายละเอียดและพฤติการณ์และข้อมูลอื่นๆ ก็เว้นช่องว่างให้ผู้ร้องทุกข์กรอกข้อความก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำเอกสารนั้นไปคัดลอกลงประจำวันก็น่าจะลดความผิดพลาดเกี่ยวกับข้อความในคำร้องทุกข์ได้บ้าง


______________________________________

(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

(2) คำพิพากษาฎีกาที่ 5236/2549

(3) คำพิพากษาฎีกาที่ 1050/2514 และที่ 2786/2524

(4) คำพิพากษาฎีกาที่ 314/2529

(5) คำพิพากษาฎีกาที่ 1474/2524 และที่ 186/2503

(6) คำพิพากษาฎีกาที่ 2206 และที่ 195/2522 และที่ 6644/2549

(7) คำพิพากษาฎีกาที่ 3343/2536

(8) คำพิพากษาฎีกาที่ 2600/2550

ดู 96 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page