top of page

ประเทศไทยในวันที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (Couvre Feu) โดยนางสาวกัลยรัตน์ รัตนบุรีวงศ์



ด้วยเหตุการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่เริ่มจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสะสมพุ่งสูงขึ้น เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ให้แพร่กระจายไปสู่ประชาชนในประเทศมากขึ้น รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาโดยการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกมาบังคับใช้กับประชาชนทั่วประเทศครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โดยหลังจากรัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ออกมาก็เกิดความสงสัยในหมู่มวลประชาชนว่าเป็นการประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ ด้วยความสับสนเช่นนี้ทำให้ประชาชนบางคนเริ่มเกิดความตระหนกออกไปซื้อของใช้หรืออาหารมาทำการกักตุนไว้เป็นจำนวนมากจนทำให้สินค้าบางอย่างขาดตลาด วันนี้ผู้เขียนจะมาอธิบายว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ใช่เคอร์ฟิวหรือไม่ และมีขอบเขตการบังคับใช้แค่ไหน

พระราชกำหนดฉุกเฉินนั้น เป็นหนึ่งในทางเลือกของการนำกฎหมายมาบังคับใช้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประกาศออกมาใช้เมื่อใดก็ได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ จนสมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐบาลสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว

ส่วนการประกาศเคอร์ฟิวนั้น ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าคำว่า “เคอร์ฟิว” ไม่ใช่ภาษาไทยอย่างแน่นอน ซึ่งคำนี้แท้จริงแล้วมีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า couvre feu แปลว่า ดับไฟ แต่เมื่อนำมาใช้กับเหตุการณ์ของประเทศนั้นจะหมายถึงคำสั่งของรัฐบาลซึ่งให้ประชาชนกลับเข้าเคหสถานหรือที่อยู่อาศัยในช่วงเวลาที่กำหนด โดยส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้ใช้ในเวลากลางคืนเพราะง่ายต่อการควบคุมหรือสะดวกต่อการปราบปรามกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความหมายและวัตถุประสงค์ในการใช้บังคับแล้วจะเห็นได้ว่าการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ใช่การประกาศเคอร์ฟิวแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรก็สามารถที่จะประกาศเคอร์ฟิวได้โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สำหรับข้อบังคับที่นายกรัฐมนตรีนำมาบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะเนื้อหาที่เป็นข้อกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ มาตรา 9 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

สำหรับระยะเวลาในการใช้บังคับตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแถลงการณ์ คือ ให้พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้มีผลใช้บังคับเบื้องต้นเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยจะครบในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2563 เพื่อรอดูแนวโน้มของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ภายหลังจากมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับแรกไม่นาน รัฐบาลได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2) เพื่อให้มีมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ตามความจำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติงลงโดยเร็ว โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 3 เมษายน 2563 จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีเนื้อหา 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็น หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้าย ประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ หรือการเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง และมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) หรือ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ข้อ 2 ในกรณีที่มีการประกาศหรือสั่ง ห้าม เตือนหรือแนะนำในลักษณะเดียวกับข้อ 1 วรรคหนึ่ง สำหรับจังหวัด พื้นที่หรือสถานที่ใดโดยกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เข้มงวดหรือเคร่งครัดกว่าข้อกำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นต่อไปด้วย

ข้อ 3 ในกรณีที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายบุคคลใดซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครจัดที่เอกเทศเพื่อควบคุมหรือกักกันบุคคลดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ภายหลังประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและข้อกำหนดทั้งสองฉบับแล้ว ปัจจุบัน (วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2563) ก็ยังพบว่าอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยนั้นไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด แต่นี่ก็คงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อควบคุมการระบาดอย่างสุดความสามารถแล้ว ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าทุกท่านคงให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว หากจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้เสียเสียชีวิตสะสมยังเพิ่มขึ้นอยู่ อีกไม่นานรัฐบาลก็คงออกมาแถลงข้อบังคับใหม่เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างแน่นอน เพื่อเป็นการช่วยให้การควบคุมการระบาดง่ายขึ้นผู้เขียนหวังว่าทุกท่านจะดูแลตัวเองเป็นอย่างดีไม่ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น งดการพบปะผู้คน หมั่นดูแลความสะอาดตัวเองและข้าวของเครื่องใช้อยู่เสมอ ผู้ที่มีอาการไข้หรือไม่สบายใจควรไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อความแน่ใจและกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้ผู้เขียนหวังว่าประเทศไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและขอให้ผู้ที่ติดเชื้อรักษาตัวหายโดยเร็ว แล้วเรามาพบกันใหม่ในบทความหน้าซึ่งจะเป็นเรื่องอะไรต้องรอติดตาม...

ดู 17 ครั้ง0 ความคิดเห็น

コメント


bottom of page