top of page

บทความเรื่อง ผู้ประกอบการ VS. โควิด-19 โดย นางสาวกัลยรัตน์ รัตนบุรีวงศ์




เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยล่าสุดในวันที่ 3 เมษายน 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 103 ราย และผู้เสียชีวิต 19 ราย รวมสะสม 1,978 ราย ความร้ายแรงของโรคนี้สามารถทำให้เกิดอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ (เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่) โดยมีอาการอย่างเช่น ไอ เป็นไข้ และหายใจลำบากในรายที่มีอาการรุนแรง ประชาชนทั่วไปสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้มีอาการป่วย รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณตา จมูก และปาก โดยไม่ได้ล้างมือ ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือน้ำยาแอลกอฮอล์ล้างมือ 70% หากมีไข้ ไอ หายใจลำบาก ให้ไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินทาง โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าไวรัสโควิด-19 อยู่บนผิวหนังได้นานเพียงใด ไวรัสอาจอยู่รอดได้ในไม่กี่ชั่วโมง โดยน้ำยาฆ่าเชื้อสามารถฆ่าเชื้อไวรัสไม่ให้สามารถแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี


วิกฤตการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานประจำ ผู้ประกอบกิจการหรือลูกจ้างผู้หาเช้ากินค่ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดโอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบกิจการส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาโดยการให้ลูกจ้างทำงานอยู่ที่บ้าน (Work from home) นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลานี้คือ ระบบเศรษฐกิจย่ำแย่ กิจการบางประเภทต้องหยุดชะงัก ผู้ประกอบการขาดรายได้มาหมุนเวียนธุรกิจจนอาจประสบปัญหาขาดทุน บทความนี้จึงเขียนขึ้นมาเพื่อนำเสนอทางเลือกสำหรับนายจ้างในการบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะกล่าวถึงสิทธิที่นายจ้างสามารถกระทำได้ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้

กรณีที่ลูกจ้างที่ถูกกักตัว นายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในช่วงของการกักตัว อันเป็นไปตามหลัก “ไม่ทำงานไม่จ่ายเงิน” ได้ และหากกิจการของนายจ้างถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ภายใต้หลัก “ไม่มีงานไม่จ่ายเงิน” เช่นเดียวกัน แต่หากนายจ้างพบว่าลูกจ้างของตนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และต้องการจะลาป่วย เช่นนี้นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอยู่ แต่ไม่เกิน 30 วันต่อปี

ในกรณีที่นายจ้างตัดสินใจที่จะหยุดกิจการชั่วคราว อันเนื่องมาจากกิจการมีจำนวนลูกค้าลดลงหรือมียอดการสั่งซื้อลดลงมากจนทำให้นายจ้างต้องปิดกิจการชั่วคราวหรือหยุดการผลิต นายจ้างสามารถขอให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวได้ ตัวอย่างเช่น กิจการของนายจ้างมียอดการผลิตลดลง 50% จึงต้องขอให้ลูกจ้างมาทำงานแค่ 3 วันต่อสัปดาห์ แทนที่จะเป็น 5 วันต่อสัปดาห์ตามเวลาปกติ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น นายจ้างแบ่งกลุ่มและมอบหมายให้แต่ละกลุ่มทำงานและหยุดสลับกันไป

นอกจากนี้ ภายใต้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นายจ้างมีสิทธิที่จะหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราวได้ แต่ทั้งนี้นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างอย่างน้อย 75% ของอัตราค่าจ้างปกติ ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ :

Ø นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวโดยไม่อาจเลี่ยงได้เนื่องจากกิจการไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ตามปกติ

Ø ความจำเป็นดังกล่าวจะไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายไทย หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุสุดวิสัยนายจ้างมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างได้ เช่น คำสั่งซื้อของลูกค้าลดลง หรือปัญหาทางด้านการเงินในสถานการณ์ที่จำเป็นอันอาจส่งผลกระทบต่อกิจการของนายจ้างซึ่งไม่ได้มาจากการทำงานที่ล้มเหลวของตัวนายจ้างเอง

Ø นายจ้างต้องเลือกว่าจะหยุดงานทั้งหมดหรือบางส่วน

Ø นายจ้างต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่แรงงานและลูกจ้างไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนหยุดกิจการ

Ø ในช่วงระยะเวลาที่หยุดงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง

Ø ระยะเวลาในการยกเลิกมาตราการนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากไม่จำเป็นต้องมีการใช้อีกต่อไปก็ให้ยกเลิกการหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราว

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลกระทบต่อกิจการไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ หากนายจ้างตัดสินใจที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย นายจ้างสามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

Ø นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงการเลิกจ้างอย่างน้อยหนึ่งรอบระยะเวลาการจ่ายเงินล่วงหน้าตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

Ø การชดเชยตามกฎหมายขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างแต่ละคนจากการจ่าย 30 วัน ตามอัตราค่าจ้างสุดท้ายของลูกจ้างคนนั้น สำหรับลูกจ้างที่ทำงานมาอย่างน้อย 120 วัน ติดต่อกันแต่ไม่ถึง 1 ปี และจ่ายค่าชดเชย 400 วัน สำหรับผู้ที่ทำงานอย่างน้อย 20 ปีติดต่อกัน

Ø นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนอื่นๆ ให้แก่ลูกจ้างด้วย เช่น ค่าชดเชยวันลาหยุดประจำปีที่ลูกจ้างไม่ได้ใช้

สำหรับเหตุสุดวิสัยตามที่กฎหมายไทยได้อ้างถึงในกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างไม่สามารถที่จะป้องกันเหตุนั้นได้แม้ว่าจะมีการระวังที่เหมาะสมแล้วสำหรับสถานการณ์นั้นๆ เช่น แผ่นดินไหวและสึนามิ เหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัยอันส่งผลให้นายจ้างไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการได้ทั้งสิ้น

ปัจจุบันศาลยังไม่มีแนวคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลและกฎหมายยังไม่ได้กำหนดให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัย เช่นเดียวกับเหตุการณ์ไฟป่าตามฤดูกาล พายุรุนแรงที่จะเกิดขึ้นตามฤดูการณ์ น้ำท่วมหรือไฟไหม้โรงงาน ศาลฎีกาก็ยังไม่รวมเป็นเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างได้ แต่ทั้งนี้เหตุดังกล่าวนายจ้างจะยังคงได้รับสิทธิในการหยุดกิจการชั่วคราวได้ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

เชื่อว่าทุกท่านโดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือผู้ที่กำลังสนใจประเด็นของนายจ้างลูกจ้างที่อ่านมาจนถึงตรงนี้คงจะได้รับประโยชน์และมีทางเลือกสำหรับวิธีการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ไม่มากก็น้อย หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้วขอให้ทุกท่านอย่าลืมล้างมือบ่อยๆ และรักษาความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อต่างๆ ลดการสัมผัสสิ่งของที่ไม่จำเป็น กินร้อน ช้อนเรา และหวังว่าทุกท่านจะสามารถผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปด้วยกัน

ดู 51 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page