ปกติผมไม่ค่อยติดตามข่าวการเมืองสักเท่าไหร่ แต่ช่วงนี้กระแสสังคมค่อนข้างรุนแรงมากกับคำว่า "เจ้าหน้าที่รัฐ" ปกติคนนอกวงการ (กฎหมาย) มักจะสงสัยว่า "อ้าว เป็นนักกฎหมายไม่รู้เหรอว่า คำว่า เจ้าหน้าที่รัฐหมายความว่าอย่างไร" ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า แม้ว่าพวกเราเป็นนักกฎหมายแต่พวกเราก็เป็นคนนะครับไม่ใช่พจนานุกรม เลยทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า คำนิยามศัพท์ทางกฎหมายของกฎหมายแต่ละฉบับก็แตกต่างกันไป มีกฎหมายเป็นร้อยฉบับมีถ้อยคำคล้ายกันๆกันมากมายเช่น เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
สำหรับคนที่ยังไม่ทราบว่าทำไมต้องทราบเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "เจ้าหน้าที่รัฐ" ก็เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 มาตรา 98 (15) เค้ากำหนดไว้แล้วน่ะสิว่าห้ามมิให้บุคคลที่มีลักษณะต่อไปนี้ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้อยคำตามมาตรา 98 (15) ใช้คำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" แน่นอนคนนอกวงการมักจะสงสัยว่าเช่นนี้แล้ว นักกฎหมายสามารถที่จะตีความอย่างไรก็ได้ตามใจนึก ต้องชี้แจงเบื้องต้นว่าไม่ใช่เช่นนั้นครับ การตีความกฎหมายจะต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบลายลักษณ์อักษร (กฎหมายแพ่ง) หรือตีความเป็นคุณแก่จำลย (กฎหมายอาญา) แล้วแต่กรณี แต่ในเรื่องนี้ เราไม่ต้องตีความกันใหม่ให้เมื่อยตุ้มครับเพราะว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยได้วินิจฉัยไว้แล้วโดยวางหลักการเกี่ยวกับการเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ว่าจะต้องเข้าเงื่อนไข 4 ประการ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย ประการที่สอง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ ประการที่สาม อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ ประการที่สี่ มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยเพิ่มเติมหลักการเดิมว่า การได้รับการแต่งตั้งโดยพระบรมราชการโองการโปรดเกล้าให้บริหารราชการแผ่นดินนั้นไม่ถือว่าเป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย ซึ่งในเชิงวิชาการถือเป็นการตีความของผู้ตรวจการแผ่นดินฯได้ตีความหลักการประการที่หนึ่ง คำว่า "กฎหมาย" อย่างแคบว่าจะต้องเป็นกฎหมายเท่านั้นไม่รวมถึงการแต่งตั้งพระบรมราชโองการฯ ซึ่งก็เป็นแนววินิจฉัยการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจากหลักเดิม
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยตีความกฎหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆก็ตาม ผมเห็นว่านักกฎหมายไม่เพียงแต่จะวินิจฉัยประเด็นทางกฎหมายให้ถูกต้องเท่านั้นแต่จำเป็นต้องแสดงเหตุผลจนเป็นที่ชัดแจ้งให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจจนเป็นที่ยอมรับการวินิจฉัยตีความดังกล่าวโดยปราศจากข้อโต้แย้ง ส่วนการตีความกฎหมายดังกล่าว ใครจะกดไลค์ถูกใจสิ่งนี้หรือไม่ถูกใจสิ่งนี้ ผมว่าเราต้องเก็บความถูกใจหรือความไม่ถูกใจไปใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งกันดีกว่าครับ
Comments