top of page

การฟ้องเรียกค่าเสียหายในเรื่องการประกวดราคาที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย โดยทนายปรีชา ส่งสัมพันธ์


การฟ้องหน่วยราชการในเรื่องการประกวดราคาซึ่งดำเนินการโดยไม่ชอบ เช่น พิจารณาผลการประกวดราคาโดยไม่เป็นธรรมหรือยกเลิกการจัดจ้างโดยไม่ถูกต้องอันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบหรือโดยละเมิด ซึ่งหน่วยราชการจะต้องรับผิดนั้นจะต้องฟ้องต่อศาลปกครอง

การฟ้องในศาลปกครองนั้น ในเรื่องทั่วๆ ไปอาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล แต่การฟ้องให้หน่วยราชการชดใช้เงินหรือชำระเงินค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้นต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราเดียวกับการฟ้องคดีแพ่งแต่ต่างกันตรงที่ว่าในศาลปกครองไม่มีการกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีต้องออกหรือใช้ค่าธรรมเนียมแทนฝ่ายที่ชนะคดี โดยในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 72 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีให้ศาลปกครองมีคำสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนของการชนะคดี” ซึ่งข้อกฎหมายนี้ทำให้ผู้ชนะคดีจำนวนมากซึ่งแม้จะได้รับการตัดสินตามคำพิพากษาว่าเป็นว่าถูกต้องและได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย แต่เมื่อหักกับค่าธรรมเนียมศาลที่เสียไปแล้ว ปรากฏว่าจำนวนเงินที่ได้รับชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าจำนวนที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมศาลหรือได้รับน้อยลงจนให้ผล “ได้ไม่คุ้มเสีย” ดังตัวอย่างที่ผมเคยประสบและขอนำมาเป็นแนวทางพิจารณาสำหรับผู้อ่านที่คิดอยากจะใช้สิทธิเรียกร้องในศาลรวม 2 คดี

คดีแรก(1) เป็นคดีที่ผมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแทนผู้ฟ้องคดีในศาลปกครองกลาง ส่วนคดีในศาลปกครองสูงสุดนั้น ผู้ฟ้องคดีนำไปดำเนินการเอง คดีที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีได้เสนอราคารับจ้างให้บริการทางเทคนิคสนับสนุนเพื่อนำไปใช้สร้างเรือตรวจการใกล้ฝั่งให้กับหน่วยราชการ โดยมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาก่อน ถ้าผู้เสนอราคารายใดมีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะไม่เปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคและซองเสนอราคา

ต่อมาในการจัดลำดับผู้เสนอราคา ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสนอราคาลำดับที่ 1 และเปิดซองข้อเสนอราคาและมีการต่อรองราคากันจนเหลือราคาที่ 19,599,895 บาท และมีหนังสือยืนยันให้คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษทราบ แต่หลังจากนั้นหน่วยราชการก็ไม่เคยเรียกให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำสัญญาเลย ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายที่ได้ลงทุนในการศึกษาหาข้อมูลและวิธีการออกแบบเรือและให้บริการทางเทคนิคทั้งจากภายในและต่างประเทศ เนื่องจากการศึกษาข้อมูลบางส่วนต้องไปดำเนินการต่างประเทศ จึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหายรวม 445 ล้านบาท โดยความเสียหายเกิดจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งเพื่อเตรียมการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค ค่าใช้จ่ายในการเตรียมงาน การศึกษาวิธีและเครื่องมือที่ใช้ทำงาน การออกแบบ การจัดทำรายการวัสดุ ค่าจัดทำเอกสาร ค่าเสียหายจากการถูกริบเงินมัดจำ ค่าเสียหายจากการขาดกำไรร้อยละ 20 ค่าเสียโอกาสจากการที่จะได้รับงานต่อเรือ ค่าเสียชื่อเสียงและขาดความเชื่อถือจากผู้ร่วมลงทุนกับต่างประเทศ และเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ในชั้นศาลปกครองกลาง ศาลพิจารณาว่าการกระทำของหน่วยราชการเป็นการละเมิด ศาลเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้ลงมือทำงานตามสัญญาจึงไม่มีความเสี่ยงใดที่ขาดทุน กำไรที่เรียกร้อยละ 20 จึงสูงเกินจริง จึงกำหนดให้ร้อยละ 7 ของวงเงินที่ผู้ฟ้องคดีเสนอรับจ้างต่อหน่วยราชการ คิดเป็นเงิน 1,231,992.65 บาท ส่วนค่าเสียหายอื่นๆ นั้นเป็นการลงทุนทางธุรกิจตามปกติในการเสนอราคาและบางส่วนเป็นค่าเสียหายในอนาคตและไกลกว่าเหตุ ค่าเสียหายชื่อเสียงและขาดความเชื่อถือนั้นไม่อาจเรียกร้องได้

สรุปแล้วความเสียหายคงได้เพียง 1,231,992.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าธรรมเนียมศาลให้คืนตามส่วนแห่งการชนะคดี ต่อมาศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้แก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยแก้ค่าเสียหายโดยกำหนดให้เพียงร้อยละ 5 ของวงเงินที่เสนอรับจ้างเหลือเพียง 887,994.75 บาท และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนแห่งการชนะคดี ในขณะที่ฟ้องคดีนั้นค่าธรรมเนียมศาลนั้นเป็นการชำระสูงสุดชั้นศาลละ 200,000 บาท รวม 2 ศาล จำนวน 400,000 บาท แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายสูงกว่าที่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาจำนวนมาก ดังนั้น ค่าธรรมเนียมที่ได้รับคืนตามส่วนการชนะคดีซึ่งถือจากหลักเกณฑ์สัดส่วนตามจำนวนที่เรียกร้องกับผลคดีตามคำพิพากษาของศาลจึงทำให้ตัวเลขค่าธรรมเนียมที่ได้รับคืนมีจำนวนน้อย เมื่อหักลบกันแล้วผู้ฟ้องคดีก็ได้รับเงินคืนเล็กน้อยมาก ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลเกือบ 4 แสนบาทตามที่ชำระต่อศาล ดังนั้นเมื่อหักค่าธรรมเนียมศาลแล้วผู้ฟ้องคดีจะได้รับเงินค่าเสียหายเพียงสี่แสนกว่าบาทเท่านั้น

คดีที่สอง(2) เป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ฟ้องคดีเอง แต่มาปรึกษาขอความเห็น คดีนี้มีข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีเสนอยื่นซองเสนอราคาขายสินค้าให้กับหน่วยราชการแห่งหนึ่งจำนวน 30,076,200 บาท เมื่อเปิดซองแล้วได้ราคาต่ำสุด แต่ปรากฏว่าหน่วยราชการแห่งนั้นกลับให้ผู้ยื่นซองรายอื่นที่เสนอราคาสูงกว่าจำนวนล้านกว่าบาทเป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยอ้างว่าผลิตภัณฑ์สินค้าของผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงเครื่องหมายอุตสาหกรรม (มอก.) และบรรจุห่อหรือกล่องของผู้ชนะการประกวดราคาสูงกว่า โดยที่เอกสารกำหนดเงื่อนไขตามประกาศของการประกวดราคาหรือ TOR ไม่ได้กำหนดว่าสินค้าที่ยื่นซองประกวดราคานั้นต้องมีเครื่องหมาย มอก. หรือกำหนดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องบรรจุภัณฑ์ หลังจากผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ต่อหน่วยราชการ หน่วยราชการที่จัดการประกวดราคาก็ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยเรียกค่าเสียหายจากการขาดกำไรที่ควรได้ โดยแสดงต้นทุนราคาสินค้าที่ซื้อจากโรงงานผู้ผลิตกับราคาที่เสนอ ค่าพาหนะในการดำเนินการติดต่อกับหน่วยราชการ ค่าจัดทำเอกสาร ค่าเสียหายชื่อเสียงที่ได้ตกลงกับผู้ผลิตเพื่อสั่งให้กับทางราชการ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาสินค้า รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 10,059,355 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันทำละเมิด ต่อมาศาลปกครองกลางพิจารณาในส่วนเกี่ยวกับความเสียหายโดยสรุปย่อดังนี้ “ค่าสินไหมทดแทนจากการขาดกำไรที่ผู้ฟ้องคดีอ้างแม้จะเป็นค่าเสียหายในอนาคต แต่เมื่อพิจารณาถึงการซื้อพัสดุพิพาทดังกล่าวมีลักษณะเป็นการซื้อขายในช่วงเวลาที่ไม่ยาวนาน ดังนั้นต้นทุนสินค้าและกำไรจึงมีลักษณะค่อนข้างแน่นอน อย่างไรก็ดีศาลเห็นว่าค่ากำไรที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นราคาที่สูงเกินไป สมควรให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากกำไรที่ควรได้ในอัตราร้อยละ 5 ของต้นทุนสินค้า หรือคิดเป็นเงิน 1,503,810 บาท ส่วนค่าพาหนะ ค่าติดต่อราชการและการจัดทำเอกสารยื่นซองประกวดราคาถือเป็นต้นทุนที่ผู้เข้ายื่นซองประกวดราคาทุกรายต้องเสียอยู่แล้ว ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีอีก โดยที่ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นหนี้เงิน ผู้ฟ้องคดีชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ... ค่าเสียหายชื่อเสียงและความเชื่อถือทางการค้ามีลักษณะเป็นการคาดคะเนที่ไม่แน่นอน ส่วนค่าจ้างที่ปรึกษาไม่ใช่ผลโดยตรงจากการออกคำสั่งโดยไม่ชอบ...” โดยสรุปก็คือ ศาลปกครองกลางให้ผู้ฟ้องคดีได้รับการชดใช้ค่าเสียหายประมาณ 1 ล้าน 5 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาคู่ความทั้งสองฝ่ายอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้ผู้ฟ้องคดีได้รับการชดใช้ 205,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือหน่วยราชการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ผู้ฟ้องคดีจึงได้รับการชดใช้เงิน แต่ในเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนั้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับคืนตามส่วนของการชนะคดี แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับคืน เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายน้อยลงจากเดิมที่ศาลปกครองกลางพิพากษา แม้ในข้อเท็จจริงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะเป็นฝ่ายปฏิบัติไม่ถูกต้องและเป็นการทำละเมิดก็ตาม จึงเสมือนว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชนะคดีในศาลปกครองสูงสุด ผลของคดีที่สองนี้เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับการชดใช้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการในศาล กล่าวคือ ในศาลปกครองกลางผู้ฟ้องคดีเสียค่าธรรมเนียมศาล 200,000 บาท แต่ได้รับคืนค่าธรรมเนียมเพียง 28,294 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 200,000 บาท ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับคืนค่าธรรมเนียมศาล ดังนั้นจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลรวมจำนวนสามแสนกว่าบาท แต่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเพียง 205,000 บาทเท่านั้น เท่ากับได้รับการชดใช้เงินน้อยกว่าค่าธรรมเนียมศาลที่จ่ายไป เหตุผลของการคืนค่าธรรมเนียมตามส่วนโดยคิดคำนวณจากจำนวนเงินที่เรียกค่าเสียหายนั้น ผู้ร่างกฎหมายน่าจะมีเจตนารมณ์ไม่ให้มีการเรียกค่าเสียหายเกินกว่าความเดือดร้อนที่แท้จริง เพราะการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกินส่วนจะเป็นภาระในการดำเนินคดีของคู่กรณีและศาล ปัญหาจึงมีว่าผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐที่กระทำโดยไม่ชอบนั้นจะรู้หรือประมาณการได้อย่างไรว่าควรจะเรียกค่าเสียหายจำนวนเท่าใดจึงจะไม่เกินค่าเสียหายที่ควรเป็น เพราะจำนวนความเสียหายที่สมควรนั้นเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งแต่ละศาลหรือแต่ละคดีนั้นอาจมีดุลพินิจแตกต่างกันโดยเฉพาะเรื่องจำนวนกำไรที่ผู้เข้าประกวดราคาควรได้รับ แต่กลับต้องสูญเสียไปเพราะถูกกระทำละเมิด จาก 2 คดีตัวอย่างข้างต้นนั้น ผมอยากสรุปเป็นข้อประกอบการพิจารณาสำหรับท่านผู้อ่านที่มีธุรกิจที่จะเข้าไปร่วมประมูลหรือเข้าเสนอซองประกวดราคา ดังนี้


ความเสี่ยงในทางธุรกิจ

การเข้าประมูลหรือยื่นซองประกวดราคานั้นเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เนื่องจากผู้ยื่นซองอาจเสนอราคาแล้วไม่ชนะการประกวดราคา เพราะผู้ร่วมประมูลรายอื่นเสนอราคาต่ำกว่าหรือมีคุณสมบัติดีกว่า ซึ่งกรณีดังกล่าวก็ต้องขาดทุนสูญเสียเวลาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าพาหนะ ค่าเตรียมเอกสาร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินประกันซอง และอื่นๆ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เรียกคืนไม่ได้เพราะแพ้การประมูลนั้น นักธุรกิจทุกคนทราบดีอยู่แล้วคงยอมรับได้ และนำความเสี่ยงนี้ไปคำนวณในการเสนอราคายื่นซอง แต่ในกรณีที่เสนอราคาต่ำสุดแล้วแต่กลับได้รับการพิจารณาว่าไม่ชนะการประมูลหรือไม่ได้เข้าทำสัญญาเหมือนคดีทั้งสองข้างต้นนั้น อาจเป็นเรื่องที่นักธุรกิจผู้ยื่นซองไม่คาดคิดว่าจะเกิด ดังนั้นผู้มีธุรกิจยื่นซองประกวดราคาต่อทางราชการ โดยเฉพาะที่อาจมีรายจ่ายมากกว่าปกติ อย่างเช่นคดีแรกที่อ้างว่าต้องไปศึกษาเก็บข้อมูลถึงต่างประเทศยิ่งต้องพึงระวังหรือตัดสินใจว่าควรเสี่ยงลงทุนประกวดราคาหรือไม่ให้มากขึ้น

ในกรณีที่ได้เข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ของหน่วยราชการ ผู้ยื่นซองประกวดราคาก็ยังอาจมีความเสี่ยงต่อไปอีกว่า งานที่ทำไปตามสัญญานั้นอาจมีปัญหาเรื่องการตรวจรับที่ล่าช้า หรือไม่ผ่านการตรวจรับหรือต้องแก้ไขงาน ซึ่งการได้รับเงินค่าว่าจ้างย่อมต้องล่าช้า และอาจถูกปรับเนื่องจากความล่าช้าหรือกรณีส่งงานไม่ได้หรืองานที่ส่งมอบไม่ถูกต้อง การส่งงานไม่ได้เป็นเวลานานก็อาจถูกบอกเลิกสัญญาและต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อหน่วยราชการ


รายได้และเงินกำไร

ทางด้านรายได้และกำไรนั้น ผู้ยื่นซองเสนอราคาย่อมต้องพิจารณาถึงต้นทุนการลงทุนและความเสี่ยงแล้วจึงจะสามารถคำนวณระบุเป็นตัวเลขเสนอราคาในซองประกวดราคาได้ผมคิดว่าผู้เสนอราคาคงคำนวณราคาที่เสนอจากต้นทุนรวมกำไรเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 

(1) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการยื่นซองประกวดราคา 

(2) ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของสินค้าหรือบริการที่จะต้องดำเนินการตามสัญญาหากชนะการประกวดราคา 

(3) กำไรจากการดำเนินการตามสัญญา ซึ่งต้องคิดถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวไว้มารวมด้วย

ในกรณีที่เป็นปัญหาเป็นว่า ผู้เสนอซองประกวดราคาต่ำสุดซึ่งควรเป็นผู้ชนะการประกวดราคา แต่กลับถูกหน่วยราชการปฏิบัติไม่ชอบกระทำละเมิดเป็นผลให้ไม่ได้เข้าทำสัญญาจนต้องพึ่งกระบวนทางศาลนั้น ทำให้เงินที่คำนวณไว้ทั้ง 3 กรณีไม่ได้ตามเป้าหมาย หากพิจารณาจากคดีตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายข้อแรกในการดำเนินการยื่นซองนั้นศาลไม่พิจารณาให้เลย โดยเหตุผลว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ยื่นซองประกวดราคาทุกรายต้องมีอยู่แล้ว แต่ความจริงแล้วถ้าหากผู้ยื่นซองประกวดราคาชนะการประกวดราคาได้เข้าทำสัญญา เงินจำนวนนี้ก็น่าจะได้รับไปเพราะผู้ยื่นซองย่อมคำนวณอยู่ในราคาที่เสนอแล้ว แต่เงินนี้กลับไม่ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายประการที่สอง คือ ต้นทุนสินค้าและบริการนั้นเมื่อไม่มีการทำสัญญาต้องถือว่าผู้ยื่นซองประกวดราคาก็ไม่ควรได้รับเพราะยังไม่ได้ทำงานส่วนเสียหายอื่นๆ แม้จะไปทำความตกลงซื้อสินค้าจากผู้ผลิตไว้ล่วงหน้าและความเสียหายอื่นนั้นก็จะเรียกค่าเสียหายไม่ได้เช่นกัน คงมีประเด็นเฉพาะรายได้ขาดหาย ประการที่สามคือ ค่าคำนวณกำไรเท่านั้นที่ว่าผู้เสียหายควรจะได้รับเพียงเท่าใด จากคดีตัวอย่างข้างต้น 2 คดี


คดีแรก ผู้ฟ้องคดีได้รับการพิจารณาค่าเสียหายเพียง 5% ของเงินที่ยื่นซองประกวดราคา

คดีที่สอง ผู้ฟ้องคดีได้รับการพิจารณาค่าเสียหายไม่ถึง 1% ของเงินที่ยื่นซองประกวดราคา

เงินค่าเสียหายที่ได้รับนี้ บางคดีเมื่อถูกหักลบด้วยค่าธรรมเนียมศาลค่าทนายความ กรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินการฟ้องคดีเองได้แล้วเกิดผล “ได้ไม่คุ้มเสีย” ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนยื่นฟ้องคดีว่า ควรเรียกค่าเสียหายเท่าใดและในการดำเนินการฟ้องร้องจะมีค่าใช้จ่ายเท่าใดเพื่อเปรียบเทียบกันดู ผลคดีที่ว่าเมื่อฟ้องคดีแล้วจะคุ้มหรือไม่ขึ้นอยู่กับค่าเสียหายที่จะได้รับตามคำพิพากษาและค่าธรรมเนียมที่จะได้รับคืน ค่าเสียหายนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ส่วนค่าธรรมเนียมคืนนั้น ในศาลปกครองต่างจากศาลแพ่ง คือ ในศาลปกครอง ศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจในเรื่องค่าธรรมเนียมได้อย่างศาลแพ่ง เนื่องจากการคืนธรรมเนียมตามส่วนของการชนะคดีขึ้นกับจำนวนที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องกับค่าเสียหายที่ได้รับตามคำพิพากษา ส่วนค่าธรรมเนียมของศาลแพ่งนั้นศาลสามารถใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี และพิจารณาการชนะคดีจากข้อหาว่าชนะเต็มข้อหาหรือชนะเพียงบางส่วนจากคดีที่พิพากษา(3)


บทสรุปและข้อเสนอแนะ


การฟ้องคดีแล้วได้ผลไม่คุ้มเสียตามตัวอย่างข้างต้นคือได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายน้อยไม่คุ้มกับการเสียเวลาดำเนินคดีอาจมีผลกระทบต่อนักลงทุนที่สนใจที่ร่วมยื่นซองประกวดราคากับทางราช เพราะจะรู้สึกว่ามีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น และอาจทำให้ไม่อยากร่วมยื่นซองประกวดราคาหรือประมูลกับราชการ หรือยื่นซองก็อาจกำหนดราคาสูงขึ้นเพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยง

ส่วนผู้ที่ถูกหน่วยราชการพิจารณาผลการประกวดราคาโดยไม่ชอบก็อาจตัดใจไม่ฟ้องคดีเพราะเกรงว่าจะได้รับการเยียวยาค่าเสียหายจำนวนน้อย การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายนั้นเป็นการถ่วงดุลไม่ให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการของรัฐปฏิบัติงานผิดพลาดหรือทุจริตได้ง่ายเมื่อไม่มีการถ่วงดุลจากการฟ้องคดีก็อาจทำให้ราชการต้องซื้อของแพงขึ้น

การฟ้องร้องที่ผู้ฟ้องคดีได้รับค่าเสียหายจำนวนน้อยนั้นอาจจะมาจากผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายสูงเกินไปหรืออาจจะมาจากคำพิพากษาซึ่งศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนต่ำและอีกส่วนอาจจะมาจากวิธีการใช้คืนค่าธรรมเนียมศาลซึ่งศาลปกครองและศาลแพ่งนั้นมีวิธีการชดเชยและใช้ค่าธรรมเนียมศาลที่แตกต่างกัน ในศาลแพ่งพิจารณาคำว่าชนะคดีจากข้อหาแล้วให้ฝ่ายที่แพ้คดีชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลแก่ฝ่ายชนะ ไม่ใช่วิธีคืนค่าธรรมเนียม ซึ่งในรูปแบบของศาลแพ่งดูน่าจะเป็นธรรมและเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจมากกว่าการคำนวณคืนค่าธรรมเนียมศาลจากสัดส่วนคำฟ้องและผลของคำพิพากษา ดังนั้น ถ้าจะมีการแก้กฎหมายให้ฝ่ายที่แพ้คดีจากข้อหาจากการพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดแล้วให้ฝ่ายที่แพ้คดีเพราะเป็นฝ่ายผิดใช้แทนค่าธรรมเนียมแก่ฝ่ายชนะดูน่าจะเหมาะสมกว่าวิธีการใช้คืนค่าธรรมเนียมศาล


อ้างอิง

(1) คดีศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.190/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อ.591/2557

(2) คดีศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.260/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อ.480/2553

(3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161


ดู 35 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page